พิธีชงชาหรือที่เรียกว่า ที่เรียกว่า ซะโด (Sadou) หรือ ชะโด (Chadou) คือ วิถีแห่งชาของชาวญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นพิธีกรรมที่ทรงคุณค่า หยั่งรากลึกลงในศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พิธีชงชาเป็นพิธีที่เรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยปรัชญาในการดำเนินชีวิต หัวใจสำคัญของพิธีชงชาจึงไม่ใช่แค่การชงหรือดื่มชาเท่านั้น แต่อยู่ที่สุนทรียภาพในการลิ้มรสทั้งรูป รส กลิ่น เสียง และ จิตใจ
ลองมาทำความรู้จักกับพิธีชงชาให้มากขึ้นรับรองได้เลยว่าหากท่านได้มีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีชงชา ก็จะต้องหลงใหลกับวัฒนธรรมอันเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยเสน่ห์อันน่าดึงดูดใจผู้คนทั่วโลกอย่างแน่นอน
ประวัติความเป็นมา
การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมจากประเทศจีนที่เผยแพร่เข้ามาในญี่ปุ่น โดยพระสงฆ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญแล้วนำมาดัดแปลงให้เข้ากับวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น
ในอดีตการดื่มชาเป็นที่นิยมกันในหมู่นักรบ ขุนนาง ตลอดจนพ่อค้าชาวเมืองที่ร่ำรวยเท่านั้น แต่ต่อมาท่าน เซ็น โนะ ริคิว (Sen no Rikyu) ได้ทำให้พิธีชงชากลายเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีแบบแผนอย่างในปัจจุบัน โดยตัดรูปแบบการเลี้ยงชาที่ฟุ่มเฟือยออกไป เน้นความเรียบง่าย จริงใจ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ด้วยจิตใจที่สงบและบริสุทธิ์ โดยมีหลักของศาสนาพุทธนิกายเซน (Zen) เข้ามาด้วย
ความหมาย พิธีชงชาหรือที่เรียกว่า ซะโด (Sadou) หรือ ชะโด (Chadou)
มาจากคำว่า ซะ (Sa) หรือ ชะ (Cha) แปลว่า “ชา” และ โด (Dou) แปลว่า “วิถี” รวมกันหมายถึง “วิถีแห่งชา”
ตามพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่นแล้ว ซะโด (Sadou) หรือ ชะโด (Chadou) สามารถอ่านออกเสียงแบบใดก็ได้
แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะนิยมออกเสียง ซะโด (Sadou)
จุดมุ่งหมายสูงสุดของซะโด (Sadou) คือ การแสดงออกถึงความงามในการต้อนรับผู้มาเยือน การชื่นชมคุณค่าและความงามของสิ่งต่างๆ รอบตัว และมิตรภาพระหว่างเจ้าบ้านและแขกผู้มาเยือน
อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับพิธีชงชา
- คะมะ (Kama) กาน้ำสำหรับใช้ต้มน้ำใส่ชา
- นัทสึเมะ (Natsume) โถสำหรับใส่ผงชามัทฉะ
- ชะอิเระ (Chaire) โถใส่ชา
- ชะฉะคุ (Chashaku) ช้อนตักผงชา มีลักษณะยาว ปลายแหลมเล็ก ทำจากไม้ไผ่
- ชะเซน (Chasen) อุปกรณ์สำหรับคนชา ทำจากไม้ไผ่
- ชะวัง (Chawan) ถ้วยชาขนาดใหญ่ แตกต่างไปตามฤดูกาล
- ชะคิง (Chakin) ผ้าสำหรับเช็ดทำความสะอาดถ้วยชา ทำจากป่าน
- ฮิชะคุ (Hishaku) กระบวยสำหรับตักน้ำชงชา
พิธีชงชา
รูปแบบการจัดพิธีชงชามักจัดในห้องชงชาซึ่งเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อยที่แสดงวัฒนธรรมแบบ “วะ (Wa)” ของญี่ปุ่น เรียกการชงชาว่า “เทะมะเอะ (Temae)” ชาที่ใช้ชง โดยทั่วไปจะ มี 2 แบบ ได้แก่
- โคอิฉะ (Koicha) ชารสเข้ม นิยมชงในถ้วยใหญ่ ดื่มกันหลายคน จึงชงให้มีรสชาติเข้มข้นเป็นพิเศษ
- อุซุฉะ (Usucha) ชารสอ่อน นิยมชงในถ้วยเล็ก สำหรับดื่มคนเดียว โดยทั่วไปมักจะพบเห็นชาแบบนี้
ลำดับในพิธีชงชา
- เสิร์ฟขนมและทานขนมให้หมดก่อนเริ่มเสิร์ฟชา
- ผู้ชงชาใช้ช้อนตักผงชาหรือชะฉะคุ (Chashaku) ตักชาจากโถใส่ลงในถ้วยชา
- ผู้ชงชาใช้กระบวยตักน้ำหรือฮิชะคุ (Hishaku) ตักน้ำร้อนใส่ถ้วยชา
- ผู้ชงชาใช้อุปกรณ์สำหรับคนชาหรือชะเซน (Chasen) คนชาให้เข้ากันจนชาแตกฟอง
- ผู้ดื่มชายกถ้วยชาขึ้นมาด้วยมือขวา แล้ววางลงบนฝ่ามือซ้าย
- หมุนถ้วยชาตามเข็มนาฬิกา เพื่อให้ส่วนหน้าของถ้วยชาที่มีลวดลายหันออกด้านที่ผู้อื่นมองเห็น แล้วค่อยดื่มด่ำกับชา
- หลังจากดื่มชาแล้ว เช็ดขอบถ้วยตรงบริเวณที่ดื่ม แล้วหมุนถ้วยชาทวนเข็มนาฬิกา 3 ครั้ง
- วางถ้วยชาลงที่เดิมพร้อมคำนับเพื่อเป็นการขอบคุณ
มารยาทของพิธีชงชา
1. โอะซะกินิ (Osakini)
โดยปกติแล้วตามงานพิธีชงชาจะจัดให้อยู่ในฝั่งรับน้ำชา มารยาทแต่ละขั้นตอนจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่กลุ่ม โดยส่วนใหญ่แล้วฝั่งที่เป็นฝ่ายรับน้ำชา จะมีคำพูดที่ใช้คือ “โอะซะกินิ” หมายความว่า ขออนุญาตทานก่อนนะคะ/ครับ เพื่อไม่ให้เสียมารยาทกับคนที่นั่งร่วมโต๊ะด้วย การกล่าวถือเป็นมารยาทที่สำคัญมากสำหรับพิธี
2. ห้ามดื่มชาด้านหน้าของถ้วยชา
หลังจากที่ได้รับการแจกจ่ายน้ำชา ต้องระวังอย่าดื่มน้ำชาจากด้านหน้าของถ้วยชา เพราะถ้วยชานั้นจะถูกส่งผ่านมาให้ โดยจะหันด้านหน้าถ้วยชามาทางด้านผู้รับ ส่วนฝั่งผู้รับนั้นจะชื่นชมความงามของลายถ้วยน้ำชา ดังนั้นถือเป็นมารยาทที่ต้องไม่ทำให้ด้านหน้าของถ้วยชานั้นเปื้อนโดยการเปลี่ยนมุมดื่มน้ำชา ใช้มือขวาประคองและหมุนถ้วยชาเล็กน้อย ให้ด้านหน้าของถ้วยชาเยื้องออกไป จึงสามารถดื่มน้ำชาได้ และไม่ควรดื่มที่เดียวจนหมด ควรที่จะแบ่งดื่มให้ได้สักสองถึงสามครั้ง
แนวคิดและปรัชญาจากพิธีชงชา
พิธีชงชาไม่ใช่แค่การชงหรือดื่มน้ำชาเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่สุนทรียภาพในการดื่มด่ำในรูป รส กลิ่น เสียง และจิตใจ
ตั้งแต่การชื่นชมคุณค่าและความงดงามของสิ่งต่างๆ อาทิ ถ้วยชา อุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธีชงชา การตกแต่ง บรรยากาศรอบตัวต่างๆ ตลอดจนการสื่อสารกันทางใจระหว่างเจ้าบ้านและแขกผู้มาเยือน
พิธีชงชาเป็นพิธีที่เรียบง่าย สง่างาม และแฝงไปด้วยปรัชญาที่ลึกซึ้ง ดังวลีญี่ปุ่น “อิจิโกะ อิจิเอะ (Ichigo Ichie)” ซึ่งหมายถึง “การได้พบกันครั้งเดียวในชีวิต” มาจากแนวความคิดที่ว่าการที่เราได้พบกันในพิธีชงชานั้นอาจจะเป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวในชีวิต แล้วหลังจากนี้จะไม่ได้มีโอกาสพบกันอีกแล้วเลยก็ได้ ดังนั้นช่วงเวลาที่ได้พบกันจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ควรปฏิบัติต่อกันอย่างดีที่สุด
ขอแนะนำ 4 สถานที่ที่สามารถสัมผัสกับวัฒนธรรมการชงชาของญี่ปุ่น ดังนี้
คะคินุมะ (Tea Ceremony Kakinuma), โตเกียว (Tokyo)
©️ Kakinuma
©️ Kakinuma
©️ Kakinuma
ห้องชาคะคินุมะ (Tea Ceremony Kakinuma) ตั้งอยู่ละแวกย่านอาซากุสะ (Asakusa) นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมการชงชาได้แบบตัวเปล่า พร้อมฟังคำอธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การชงชาจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่จะได้รับชมการสาธิตพิธีชงชาแบบเต็มรูปแบบ หลังจากนั้นจะได้ลองชงชาตั้งแต่ต้นจนถึงวิธีการรินน้ำชากับอุปกรณ์แบบดั้งเดิมด้วนตัวเอง และดื่มด่ำชาพร้อมกับขนมญี่ปุ่นวากาชิ (Wagashi) โดยเวิร์คช็อปดังกล่าวจะใช้เวลารวมทั้งสิ้นราว 1 ชั่วโมง
รายละเอียดสถานที่เพิ่มเติม
ที่อยู่ |
Tea Ceremony Kakinuma3-21-9 Asakusa,Taito, Tokyo |
---|---|
แผนที่ | |
การเดินทาง | จากสถานี JR Tokyo โดยสารรถไฟ JR Yamanote ลงสถานี Kandan ใช้เวลา 2 นาที จากนั้นโดยสารรถไฟ Tokyo Metro Ginza Line ลงสถานี Asakusa ใช้เวลา 11 นาที เดินต่ออีก 10 นาที |
เวลาทำการ | 11:00 – 17:00 น. |
วันหยุด | วันอาทิตย์ และวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ |
ค่าใช้จ่าย | คอร์สชงชา 2,200 เยน |
เว็บไซต์ (ภาษาญี่ปุ่น) | https://kakinuma.tokyo |
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) | – |
เว็บไซต์ (ภาษาไทย) | – |
โนะบะตะ ชาโฮะ (Nobata Chaho), กิฟุ (Gifu)
©️ Nobata Chaho
©️ Nobata Chaho
ร้านชาเก่าแก่ที่เริ่มกิจการมาตั้งแต่สมัยเมจิที่ 13 ตั้งอยู่ที่เมืองทะคะยะมะ (Takayama) แห่งจังหวัดกิฟุ (Gifu) เป็นร้านจำหน่ายชาสารพัด ตั้งแต่ชาเขียว ชาโฮจิฉะ ชาข้าว และชาเขียวที่ปลูกได้ในพื้นที่จังหวัดกิฟุ รวมถึงอุปกรณ์ชงชา และถ้วยชาที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามานั่งดื่มชาที่คาเฟ่ หรือสัมผัสศิลปะวัฒนธรรมการชงชากับกิจกรรมเวิร์คช็อปต่างๆ อย่างเป็นกันเอง โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านชาคอยอธิบายถึงอุปกรณ์การใช้ วิธีการชงชา และมารยาทการดื่มชาในระหว่างเข้าพิธี
รายละเอียดสถานที่เพิ่มเติม
ที่อยู่ |
Nobata Chaho1-80 Ojinmachi Takayama Gifu |
---|---|
แผนที่ | |
การเดินทาง | จากสถานี JR Nagoya โดยสารรถไฟ JR Tokaido Main Line ลงสถานี Takayama ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 20 นาที เดินต่ออีก 15 นาที |
เวลาทำการ | วันจันทร์-วันเสาร์ 09:00 – 19:00 น. / วันอาทิตย์ 10:00 – 16:00 น. คอร์สชงชา: ทุกวันอังคาร 13:30 – 18:00 น. (เดือนละ 3 ครั้ง) |
วันหยุด | วันอาทิตย์ที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน |
ค่าใช้จ่าย | คอร์สชงชา 2,500 เยน |
เว็บไซต์ (ภาษาญี่ปุ่น) | https://nobata-chaho.jp |
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) | http://hidabito.jp/english/hc/hidabito-015/index.html |
เว็บไซต์ (ภาษาไทย) | – |
ที เซเรโมนี่ โคะโตะ (Tea Ceremony Koto), เกียวโต (Kyoto)
©️ Tea Ceremony Koto
©️ Tea Ceremony Koto
ห้องชาแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัด คินคะคุจิ (Kinkakuji) เป็นสถานที่ที่ให้นักท่องเที่ยวได้เปิดประสบการณ์เรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมการชงชาของญี่ปุ่น ภายในบรรยากาศห้องพิธีชงชาที่มีเสื่อทาทามิ อีกทั้งยังมีบริการเช่าชุดกิโมโนเปลี่ยน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้สึกถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบสมจริง ระหว่างที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ฟังบรรยายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาญี่ปุ่น มารยาทในการดื่มชา และชมการสาธิตวิธีชงชาที่แสนประณีตจากอาจารย์ผู้ที่เชี่ยวชาญเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นจะได้ทดลองชงชา และอิ่มเอมไปกับชาเขียวร้อนๆ พร้อมขนมวากาชิ (Wagashi)
นอกจากกิจกรรมชงชาแล้ว ที่นี่ยังมีกิจกรรมจัดดอกไม้ หรือพับกระดาษแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างเต็มอิ่มอีกด้วยเช่นกัน
รายละเอียดสถานที่เพิ่มเติม
ที่อยู่ |
Tea Ceremony Koto37 Kinugasanishi Goshonouchicho, Kita-ku, Kyoto |
---|---|
แผนที่ | |
การเดินทาง | จากสถานี JR Kyoto โดยสารรถบัสสาย 101, 102, 204, 205 ลงป้าย Kinkakuji-michi เดินต่ออีก 1 นาที |
เวลาทำการ | 10:00 – 17:30 น. |
วันหยุด | ไม่มี |
ค่าใช้จ่าย | คอร์สชงชา: ผู้ใหญ่ 2,700 เยน / เด็ก 1,620 เยน |
เว็บไซต์ (ภาษาญี่ปุ่น) | http://jpn.teaceremony-kyoto.com |
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) | http://teaceremony-kyoto.com |
เว็บไซต์ (ภาษาไทย) | – |
ฟุคุจูเอ็น (Fukujuen), เกียวโต (Kyoto)
©️ Fukujuen
©️ Fukujuen
ฟุคุจูเอ็น (Fukujuen) เป็นร้านจำหน่ายชาที่มีสาขาทั่วประเทศที่ดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 230 ปี และยังเปิดห้องชงชาให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้ที่สาขาเกียวโต โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจะอธิบายคุณลักษณะของพิธีชงชาแบบดั้งเดิม และแสดงวิธีการชงชาให้ชมอย่างประณีต จากนั้นก็จะให้นักท่องเที่ยวได้ลองชงชา และดื่มชากับขนมหวาน ภายในห้องที่ตกแต่งแบบเรียบง่ายด้วยเสื่อทาทามิ และภาพวาดกระดาษม้วนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าถึงปรัชญาความสงบและเรียบง่ายของวิถีแห่งชา ใช้เวลารวมทั้งสิ้นประมาณ 30 นาทีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับคอร์สที่เลือก
รายละเอียดสถานที่เพิ่มเติม
ที่อยู่ |
Fukujuen Kyoto Flagship StoreShijo Tominokoji, Shimogyo-ku, Kyoto-city, Kyoto |
---|---|
แผนที่ | |
การเดินทาง | จากสถานี JR Kyoto โดยสารรถไฟ Kyoto City Subway Karasuma Line ลงสถานี Shijo ใช้เวลา 3 นาที เดินต่ออีก 7 นาที |
เวลาทำการ | 11:00 – 19:00 น. |
วันหยุด | วันพุธที่ 3 ของทุกเดือน *ยกเว้นเดือนพฤศจิกายน |
ค่าใช้จ่าย | คอร์สชงชา: ผู้ใหญ่ 2,500 เยน |
เว็บไซต์ (ภาษาญี่ปุ่น) | http://fukujuen-kyotohonten.com/4f/index.html |
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) | http://fukujuen-kyotohonten.com/english/index.html |
เว็บไซต์ (ภาษาไทย) | – |
[ เพจที่เกี่ยวข้อง ]
- ศิลปะวัฒนธรรมญี่ปุ่น
- เทศกาลตลอดปี
- สัมผัสประสบการณ์ที่พักในวัดญี่ปุ่น
- เที่ยวชมไร่ชาพร้อมชิมชารสเลิศที่ชิซุโอกะ (Shizuoka), ชิซุโอกะ (Shizuoka)
- ขนมหวานจากมัทฉะ ของอร่อยที่ห้ามพลาดในเกียวโต!
ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2020