เคยคิดอยากลองไปชมการแข่งขันฟุตบอลสดๆ ที่ญี่ปุ่นดูสักครั้งหรือไม่? 
ปัจจุบันฟุตบอลเจลีกได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจอย่างมากในหมู่แฟนบอลชาวไทย โดยในฤดูกาลที่ผ่านมาในเมืองไทยก็ได้เริ่มมีการถ่ายทอดฟุตบอล “เจลีก (J.League)” ลีกฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศญี่ปุ่นกันแล้ว และยังมีนักเตะดาวเด่นของไทยหลายคนที่พากันไปเซ็นสัญญาค้าแข้งกับเจลีกกันอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนี้จะขอแนะนำเรื่องการชมฟุตบอลในญี่ปุ่น และเล่าเรื่องเกี่ยวกับเจลีกแบบคร่าวๆ รวมถึงแนะนำนักเตะชาวไทยที่ไปค้าแข้งอยู่ที่ญี่ปุ่นให้ได้รู้จักกัน
ความนิยมของกีฬาฟุตบอลในญี่ปุ่น
ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในเมืองไทย ซึ่งที่ญี่ปุ่นเองก็ได้รับความนิยมอย่างสูงและมีแฟนบอลจำนวนมากเช่นกัน เป็นกีฬาซึ่งคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในวงกว้างทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งในฐานะ “กีฬาที่ชอบเล่น” และ “กีฬาที่ชอบดู” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแมตช์ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลชิงแชมป์ญี่ปุ่นระดับมัธยมปลายและระดับมหาวิทยาลัย หรือแมตช์การแข่งขันฟุตบอลอาชีพ “เจลีก (J.League)” เมื่อไหร่ก็มักจะดึงดูดแฟนบอลให้มาร่วมลุ้นร่วมเชียร์กันที่สนามได้อย่างครึกครื้นล้นหลาม
การร่วมเชียร์และร่วมชมการแข่งขันฟุตบอล
บรรดาแฟนบอลที่มาชมการแข่งขันในสนาม จะใส่เสื้อทีมของทีมที่ตนเชียร์จนทั่วทั้งอัฒจันทร์กลายเป็นสีเดียวกัน เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับนักกีฬารวมถึงแฟนบอลคนอื่นๆ ที่เชียร์ทีมเดียวกัน สำหรับการเชียร์นั้นก็มีหลายวิธีแตกต่างกันไปในแต่ละทีม ทั้งที่ใช้โทรโข่งในการเชียร์ โบกสะบัดผ้าขนหนูสีเดียวกับสีทีม หรือที่ร้องเพลงเชียร์พร้อมกระโดดไปด้วยอย่างฮึกเหิม ซึ่งหากได้ไปร่วมชมร่วมเชียร์เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ได้ไปโบกสะบัดธงผืนใหญ่ และได้ชูป้ายผ้าพร้อมข้อความเชียร์บอลอยู่ในสนามกีฬาจริงๆ ก็คงจะได้สัมผัสกับความรู้สึกเร่าร้อนเปี่ยมพลังของเหล่าแฟนบอลที่เชียร์กันอยู่อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ภายในสนามกีฬายังมีเครื่องดื่มซอฟต์ดริงค์ แอลกอฮอล์ ไอศกรีม และอาหารว่างนานาชนิดให้ได้เอร็ดอร่อยกันระหว่างชมการแข่งขันอีกด้วย โดยจะมีเจ้าหน้าที่เดินมาขายตามที่นั่งบนอัฒจันทร์ หรือจะซื้อตามร้านค้าในโซนขายอาหารและเครื่องดื่มก็ได้เช่นกัน ซึ่งสนามกีฬาบางแห่งก็มีเมนูอาหารที่มีชื่อเป็นมงคลเพื่อ “ชนะการแข่งขัน” หรือบางแห่งก็อาจจะมีเมนูพิเศษที่หาทานได้เฉพาะในท้องถิ่นเท่านั้นไว้บริการด้วยเช่นกัน
เจลีก (J.League)
“เจลีก (J.League)” ย่อมาจาก “Japan Professional Football League” ซึ่งหมายถึงลีกฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปีค.ศ. 1993 จนปัจจุบันนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน 25 ปีแล้ว แบ่งออกเป็น 3 ดิวิชันตามระดับความสามารถของทีมเป็น J1, J2 และ J3 และมีสโมสรที่เข้าร่วมรวมทั้งสิ้น 54 สโมสร (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2018) ฤดูกาลแข่งขันของเจลีก จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคมและสิ้นสุดลงในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี โดยแมตช์การแข่งขันมักจะจัดขึ้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดราชการ แต่นับตั้งแต่ฤดูกาลนี้เป็นต้นไปก็จะมีการจัดการแข่งขันในคืนวันศุกร์เพิ่มขึ้นมาด้วย
การซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขัน
วิธีที่ง่ายที่สุดคือการซื้อบัตรหน้างาน ในวันที่จัดการแข่งขันที่แผนกขายบัตรที่สนามกีฬาได้เลย แต่สำหรับบางแมตช์ที่ได้รับความนิยมมากบัตรก็อาจจะขายหมดอย่างรวดเร็ว การซื้อบัตรล่วงหน้าก็จะเป็นวิธีที่แน่นอนกว่า ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทางอินเทอร์เน็ตและตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น
เว็บไซต์จำหน่าย “บัตรเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลเจลีก” (ภาษาญี่ปุ่น)
เว็บไซต์จำหน่าย “บัตรเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลเจลีก” (ภาษาอังกฤษ)
นักเตะไทยที่ไปค้าแข้งอยู่ที่ญี่ปุ่น
ในปีค.ศ. 2017 ทางเจลีก (J.League) ได้ยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับนักเตะต่างชาติจาก 8 ประเทศ รวมถึงไทย เวียดนาม และพม่า ซึ่งหมายความว่านักเตะไทยจะได้มีสิทธิในการเซ็นสัญญาและลงสนามแข่งเช่นเดียวกันกับนักเตะญี่ปุ่น นับแต่นั้นมาจึงได้เริ่มมีการคว้าตัวนักเตะจากไทยกันอย่างคึกคัก
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2017 สิทธิโชค ภาโส กองหน้าทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 19 ได้เซ็นสัญญาเข้าสังกัดสโมสร “คาโงะชิมะ ยูไนเต็ด (Kagoshima United)” ในเจลีกดิวิชัน 3 (J3) ถือกำเนิดในฐานะนักเตะเจลีกคนแรกจากประเทศไทย ต่อมาในเดือนกรกฎาคมสโมสรฟุตบอลโตเกียว (FC Tokyo) ก็ได้ทำสัญญายืมตัวจักรกฤษณ์ เวชภิรมย์ ผู้เล่นทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี มาจากสโมสรแบงค็อก ยูไนเต็ด (Bangkok United) และในเดือนเดียวกัน ชนาธิป สรงกระสินธ์ นักฟุตบอลดาวรุ่งทีมชาติไทยก็ได้เซ็นสัญญาเข้าสังกัดสโมสร “ฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร (Hokkaido Consadole Sapporo)” และมีบทบาทสำคัญน่าจับตามองในฐานะนักเตะไทยคนแรกที่ได้เข้าไปค้าแข้งในเจลีก ดิวิชัน 1
ในปีค.ศ. 2018 นี้ นักเตะจากไทยก็ยังคงเดินหน้าเข้าค้าแข้งในเจลีกกันอย่างต่อเนื่อง เริ่มด้วยสโมสร “ซานเฟรซเซ ฮิโรชิมะ (Sanfrecce Hiroshima)” ที่คว้าตัวธีรศิลป์ แดงดา ดาวซัลโวประจำทีมชาติไทยมาได้ ด้วยประสบการณ์ที่เคยเล่นให้กับสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ (Manchester City) ของอังกฤษ สโมสรกราสฮอปเปอร์ (Grasshopper) ของสวิตเซอร์แลนด์ และสโมสรอูเด อัลเมรีอา (UD Almeria) ของเสปน ทำให้ธีรศิลป์เป็นที่จับตามองและคาดหวังเป็นอย่างมากถึงผลงานหลังจากนี้ สำหรับสโมสร “เซเรโซ โอซาก้า (Cerezo Osaka)” ก็ได้ตัว เชาว์วัฒน์ วีระชาติ นักเตะทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีมาจากสโมสรบางกอกกลาส (Bangkok Glass) และตามมาด้วยการเข้าร่วมทีมสโมสร “วิสเซล โกเบ(Vissel Kobe)” ของธีราทร บุญมาทัน กองหลังฝั่งซ้ายทีมชาติไทย เรียกว่านักเตะไทยที่ไปค้าแข้งในวงการฟุตบอลอาชีพที่ญี่ปุ่นมีจำนวนมากยิ่งกว่าฤดูกาลที่แล้วขึ้นไปอีก
ร่วมชมแมตช์การแข่งขันของสโมสรที่มีนักเตะไทยในสังกัด
นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากทีเดียวหากได้มีโอกาสไปชมแมตช์การแข่งขันฟุตบอลของนักเตะไทยในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากนักฟุตบอลไทยส่วนใหญ่จะเซ็นสัญญาแบบชั่วคราวซึ่งกำหนดระยะเวลาเพียง 1-2 ปี โอกาสที่จะได้ไปชมและเชียร์นักเตะเหล่านี้ในญี่ปุ่นจึงไม่ได้ยาวนานนัก สำหรับจดหมายข่าวฉบับนี้จะขอแนะนำให้รู้จักกับสโมสร “ฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร (Hokkaido Consadole Sapporo)” ซึ่งมีชนาธิปในสังกัด และสโมสร “ซานเฟรซเซ ฮิโรชิมะ (Sanfrecce Hiroshima)” ที่มีธีราทรในสังกัด
ฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร (Hokkaido Consadole Sapporo), ฮอกไกโด (Hokkaido)
สโมสรระดับเจลีกเพียงแห่งเดียวในฮอกไกโด (Hokkaido) ได้ต้อนรับนักเตะชื่อดังชนาธิป สรงกระสินธ์ ผู้มีฉายาว่า “เมสซี่เจ” มาเป็นสมาชิกใหม่ตั้งแต่หน้าร้อนปีที่ผ่านมา มีสนามเหย้าชื่อซัปโปโรโดม (Sapporo Dome) อยู่ในเมืองซัปโปโร (Sapporo City)
ซัปโปโรโดม (Sapporo Dome) เป็นหนึ่งในสนามกีฬาไม่กี่แห่งในโลกที่เป็นทรงโดมซึ่งสามารถทำการแข่งขันฟุตบอลในร่มได้ ภาพโดมสะท้อนประกายเงาวับสีเงินทำให้แลดูคล้ายกับยานอวกาศ หลังจากที่ชนาธิปได้เข้ามาร่วมทีมสโมสรแห่งนี้ ก็ได้เริ่มมีการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลเจลีกในประเทศไทยกันอย่างจริงจังมากขึ้น มีสื่อไทยประจำอยู่ที่เมืองซัปโปโร (Sapporo) เพื่อคอยเสนอข่าวความเคลื่อนไหวรายวันของนักเตะหนุ่ม ทำให้คนไ