© futta
© flickr
ฟุตบอล คือ กีฬายอดนิยมของหนุ่มสาวชาวไทย ซึ่งปัจจุบันก็มีนักฟุตบอลจากญี่ปุ่นหลายคนที่เข้ามามีบทบาทในวงการฟุตบอลไทย เช่น นาโอะอากิ อะโอยามะ (Naoaki Aoyama ) แห่งสโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด (SCG MUANGTHONG UNITED) เป็นต้น หลายคนคงนึกอยากลองไปชมการแข่งขันฟุตบอล “เจลีก (J.League)” ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดสุดยอดนักฟุตบอลชาวญี่ปุ่นเหล่านี้กันที่สนามกีฬาจริงๆกันดูสักครั้ง ในครั้งนี้จึงจะขอแนะนำสนามฟุตบอลหรือสเตเดียม (Stadium) ใหญ่ๆในญี่ปุ่นให้ได้รู้จักกัน
การจัดการแข่งขันฟุตบอลเจลีก (J.League)
“เจลีก (J.League)”
คือชื่อของลีกการแข่งขันฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น 3 ดิวิชั่น คือ J1, J2 และ J3 โดยมีสโมสรฟุตบอลเข้าร่วมทั้งหมด 57 สโมสร ก่อนอื่นลองมองหาสโมสรที่มีนักฟุตบอลที่เราชื่นชอบกันก่อน จะทำให้ชมการแข่งขันได้สนุกขึ้น
ฤดูกาลการแข่งขันฟุตบอลเจลีก (J.League)
จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี และจะสิ้นสุดในช่วงต้นเดือนธันวาคม ปกติแล้วการแข่งขันแต่ละแมตช์จะจัดขึ้นในช่วงกลางวันของวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์
แต่สำหรับในช่วงปลายเดือนมิถุนายนไปจนถึงต้นเดือนกันยายนซึ่งเป็นฤดูร้อนนั้นมักจะจัดการแข่งขันกันในเวลากลางคืน หรือที่เรียกกันว่าไนท์แมตช์ (Night Match)
การซื้อบัตรเข้าชม
วิธีที่ง่ายที่สุดคือการซื้อบัตรหน้างาน ในวันที่จัดการแข่งขันที่แผนกขายบัตรที่สนามกีฬาได้เลย แต่หากเป็นแมตช์ยอดนิยมบัตรเข้าชมก็อาจจะหมดก่อน การซื้อบัตรเข้าชมล่วงหน้าจึงเป็นวิธีที่แน่นอนกว่า ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้ สำหรับการแข่งขันของบางทีม ก็ยังสามารถหาซื้อบัตรเข้าชมจากต่างประเทศได้ทางอินเทอร์เน็ตอีกด้วย เช่น
โยโกฮามะ เอฟ มารีนอส (Yokohama F. Marinos)
(ภาษาอังกฤษ) : http://www.f-marinos.com/en/tickets/
เอฟซี โตเกียว (FC Tokyo)
(ภาษาอังกฤษ) : https://www.ticketbis.net/f-c-tokyo-tickets/ca9273
เว็บไซต์จำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขันทุกแมตช์ “เจลีก ทิคเก็ต (J.League Ticket)
(ภาษาญี่ปุ่น) : https://www.jleague-ticket.jp/
อุปกรณ์เพื่อความสะดวกสำหรับชมการแข่งขัน
สนามฟุตบอลส่วนใหญ่มักเป็นแบบไม่มีหลังคา ในกรณีที่จะเข้าชมการแข่งขันตอนกลางวันในช่วงฤดูร้อน ควรจะนำแว่นกันแดด หมวก ครีมกันแดด และเครื่องดื่มเย็นๆติดตัวไปด้วย ถ้ามีกล้องส่องทางไกล หรือเสื้อกันฝนไปด้วย ก็จะช่วยให้สะดวกยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ หากใส่ผ้าพันคอหรือเสื้อทีมของทีมที่ชอบซึ่งมีขายอยู่หน้างานก็จะยิ่งทำให้เชียร์การแข่งขันได้สนุกมากยิ่งขึ้น
© PhotoAC
สนามฟุตบอลที่น่าสนใจ
ไซตะมะสเตเดียม 2002 (Saitama Stadium 2002), จังหวัดไซตะมะ (Saitama)
© futta
© flickr
สนามกีฬาแห่งนี้เป็นสนามเหย้าหรือโฮมสเตเดียม (home stadium) ของทีม “อุราวะ เรด ไดมอนส์ (Urawa Red Diamonds)” หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่าทีม “อุราวะ เรดส์ (Urawa Reds)” นั่นเอง สร้างขึ้นเพื่อรองรับการจัดการแข่งขันฟุตบอลฟีฟ่า เวิลด์คัพ 2002 (FIFA World Cup 2002) และเป็นสนามฟุตบอลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ที่นั่งชมการแข่งขันสีแดงดูเชิญชวนให้เข้าไปชมการแข่งขันของทีมเหย้าอย่างอุราวะ เรดส์เป็นอย่างยิ่ง
ที่อยู่ | 2-1 Misono, Midori-ku, Saitama-shi, Saitama |
---|---|
การเดินทาง | จากสถานี Urawa-Misono จากนั้นเดินอีก 15 นาที |
เว็บไซต์ (ภาษาญี่ปุ่น) | http://www.stadium2002.com/ |
โตโยต้าสเตเดียม (Toyota Stadium), จังหวัดไอจิ (Aichi)
© flickr
สนามเหย้าของทีม “นาโกย่า แกรมปัส เอท (Nagoya Grampus Eight)” แห่งเมืองโตโยต้า (Toyota City) ทางตะวันออกของนาโกย่า จุผู้ชมได้ประมาณ 40,000 คน ซึ่งนับว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากไซตะมะสเตเดียม (Saitama Stadium) อัฒจันทร์สูง 4 ชั้นช่วยให้สามารถชมการแข่งขันได้อย่างชัดเจนจากทุกที่นั่ง และความสูงชันของอัฒจันทร์แห่งนี้ก็สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ที่ได้เห็นมากเลยทีเดียว
ที่อยู่ | 7-2 Sengoku-cho, Toyota-shi, Aichi |
---|---|
การเดินทาง | จากสถานี Meitetsu Nagoya โดยสารรถไฟ Meitetsu Nagoya ไปลงที่สถานี Chiryu แล้วเปลี่ยนรถไฟเป็นสาย Meitetsu Mikawa ไปลงปลายทางที่สถานี Toyota-shi ใช้เวลาประมาณ 60 นาที จากนั้นเดินอีก 17 นาที |
เว็บไซต์ (ภาษาญี่ปุ่น) | http://www.toyota-stadium.co.jp/ |
ซุยตะซิตี้ฟุตบอลสเตเดียม (Suita City Football Stadium), จังหวัดโอซาก้า (Osaka)
© PhotoAC
สนามเหย้าของทีม “กัมบะ โอซาก้า (Gamba Osaka)” แห่งนี้จุผู้ชมได้ราว 40,000 คน อัฒจันทร์ที่อยู่ใกล้กับขอบสนามช่วยให้สามารถลุ้นไปกับการแข่งขันได้อย่างใกล้ชิด และสามารถเดินทางจากสถานีอุเมดะ (Umeda Station) ในโอซาก้าโดย Hankyu Line หรือรถไฟใต้ดินเพื่อต่อรถโมโนเรลได้โดยใช้เวลาประมาณ 40-50 นาที
ที่อยู่ | 3-3 Senri-Banpaku-Koen, Suita-shi, Osaka |
---|---|
การเดินทาง | จากสถานี Umeda(Hankyu) โดยสารรถไฟ Hankyu Kyoto ไปลงที่สถานี Minami-ibaraki แล้วเปลี่ยนรถไฟเป็น Osaka Monorail ไปลงที่สถานี Bampaku Kinen Koen ใช้เวลาประมาณ 40 นาที จากนั้นเดิน 15 นาที |
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) | https://osaka-info.jp/en/page/suita-football-stadium |