รู้ไว้ใช่ว่า…กฎการแยกขยะของญี่ปุ่น

เวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยประสบกับปัญหาการแยกขยะที่มีข้อบังคับแตกต่างจากไทยอย่างแน่นอน เราจึงจะมาแนะนำให้รู้จักกฎการแยกขยะของญี่ปุ่นที่จะช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

การแยกขยะ

แม้ว่าจะมีถังขยะจัดวางเอาไว้ให้ตามที่สาธารณะต่างๆ อย่างสถานีรถไฟหรือสนามบิน แต่ถังขยะของญี่ปุ่นนั้นกลับถูกแยกประเภทอย่างยิบย่อยจนเรียกได้ว่าคนทั้งโลกต้องประหลาดใจเลยทีเดียว โดยถังขยะส่วนใหญ่นั้นจะแบ่งออกเป็น ขยะเผาได้ ขยะเผาไม่ได้ กระป๋อง ขวดแก้ว ขวดพลาสติกหรือหนังสือเก่า เป็นต้น โดยประเทศญี่ปุ่นจะทำการรีไซเคิลขยะ เพื่อลดปริมาณขยะและบริหารจัดการเพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่านั่นเอง

ขยะเผาได้ (บางครั้งเขียนบนป้ายว่า “ขยะอื่นๆ”)

โดยมากจะเป็นพวกกระดาษหรือขยะสดต่างๆที่สามารถนำไปทิ้งได้ บางครั้งยังรวมไปถึงพวก ผลิตภัณฑ์จากยาง ผ้า หนัง เศษกระดาษ วิดีโอเทป เปลือกหอย ขยะถุงพลาสติก ของเล่น เศษกิ่งไม้และแผ่นไม้ หรือไฟแช็คแบบใช้แล้วทิ้งด้วย ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามเขตเมืองต่างๆ

ขยะเผาไม่ได้

หลักๆก็จะเป็นพวกเครื่องครัว เครื่องปั้นดินเผา แก้ว หม้อ กาน้ำและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ บางที่ก็สามารถทิ้งมีดทำครัว พวกของมีคมต่างๆ แบตเตอรี่ นาฬิกา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆ ร่ม หลอดไฟ หลอดฟลูออเรสเซนต์ สายไฟ ผ้าไวนิล กล่องเทปต่างๆ ได้เช่นกัน แต่รายละเอียดในการแยกขยะก็จะแตกต่างกันไปตามเมืองนั้นๆด้วย

กระป๋อง

มีจุดเด่นตรงช่องใส่ขยะจะมีลักษณะเป็นรูปวงกลม

ขวดพลาสติก (ขวด PET)

ถังขยะบางชนิดจะมีช่องสำหรับแยกทิ้งฝาขวดและขวดออกจากกันด้วย

หนังสือเก่า

พวกหนังสือพิมพ์ นิตยสาร แผ่นพับหรือถุงห่อที่ทำจากกระดาษต่างๆ ลักษณะเด่นคือช่องใส่ขยะจะมีลักษณะแคบและยาว

ตามสถานที่สาธารณะมีถังขยะอยู่น้อย

แม้ว่าในไทยจะมีถังขยะอยู่ตามสถานที่สาธารณะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตามถนนหนทางหรือสวนสาธารณะ แต่ในญี่ปุ่นนั้นกลับแทบจะไม่มีถังขยะตามสวนสาธารณะหรือทางเดินเลย ทำให้ต้องถือขยะกลับไปทิ้งที่บ้าน เพราะสำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว มักจะคิดกันว่าขยะเป็นสิ่งที่ “ต้องถือกลับไปทิ้งที่บ้านตัวเอง” มากกว่า “ทิ้งไว้ ณ ตรงนั้น” ดังนั้นหากไม่พบถังขยะอยู่ใกล้ๆแล้วล่ะก็ อย่าทิ้งขยะเรี่ยราดและถือไปทิ้งในที่ๆมีถังขยะจะดีกว่า

การรับประทานอาหารตามร้านฟาสต์ฟู้ดและฟู้ดคอร์ท

หลังจากทานอาหารในร้านบริการตัวเองอย่างฟาสต์ฟู้ดหรือฟู้ดคอร์ทเสร็จเรียบร้อยแล้ว การนำจานชามไปเก็บด้วยตัวเองนั้นเป็นมารยาทปกติที่ทำกันทั่วไป(ไม่ว่าจะเป็นการนำจานชามที่ใช้แล้วไปคืนที่เคาน์เตอร์หรือนำกระดาษห่ออาหารไปทิ้ง) แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ “ต้องทำ” แต่เวลาที่อยู่ญี่ปุ่น ควรจะทำตามมารยาทไว้ก่อนจะดีกว่า

ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2016

จดหมายข่าวอื่นๆ