นิฮงเคน (Nihon-ken) หรือสุนัขญี่ปุ่น ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

สุนัขญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่านิฮงเคน (Nihon-ken)

ปัจจุบันนี้ สุนัขญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่านิฮงเคน (Nihon-ken) กำลังเป็นที่สนใจไปทั่วโลก ด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดี และลักษณะที่รวมเอาความสง่างามละเอียดอ่อน และความเรียบง่ายตรงไปตรงมาเข้าไว้ด้วยกัน ตัวอย่างที่รู้จักกันดี ได้แก่ สุนัขพันธุ์อะคิตะอินุ (Akita-inu) หรือที่เรียกกันทั่วไปในญี่ปุ่นว่าอะคิตะเคน (Akita-ken) ที่ได้รับบทสำคัญในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องหนึ่ง และสุนัขพันธุ์ชิบะอินุ (Shiba-inu) ซึ่งมีผู้ติดตามอยู่ทั่วทุกมุมโลกผ่านทางอินสตาแกรมนั่นเอง ในครั้งนี้เราจะมาแนะนำลักษณะพิเศษรวมถึงความเป็นที่นิยมอย่างล้นหลามของสุนัขญี่ปุ่นให้ได้รู้จักกัน

ในญี่ปุ่น สุนัขที่ได้เรียกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ญี่ปุ่น หรือ นิฮงเคน (Nihon-ken) นั้น มีอยู่ด้วยกัน 6 สายพันธุ์ ซึ่งได้รับการจัดให้เป็นสุนัขสายพันธุ์สงวน ได้แก่

  • อะคิตะอินุ (Akita-inu)
  • ชิบะอินุ (Shiba-inu)
  • คิชูเคน (Kishu-ken)
  • ชิโกะคุเคน (Shikoku-ken)
  • ไคเคน (Kai-ken)
  • ฮอกไกโดเคน (Hokkaido-ken)

โดยมากสุนัขสายพันธุ์ญี่ปุ่นเหล่านี้จะมีขนสีน้ำตาล ขาว หรือดำ และมีลักษณะทางกายภาพอื่นๆร่วมกัน ได้แก่ หูทรงสามเหลี่ยมตั้งชันและชี้ไปด้านหน้า หางงอ หรือไม่ก็ชี้ตรงเป็นเส้นแทยงมุม และขาที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรง นอกจากนี้สุนัขญี่ปุ่นจะมีลักษณะเงียบขรึม สง่างาม และละเอียดอ่อน  และรูปลักษณ์ปัจจุบันโดยทั่วไปใกล้เคียงกับบรรพบุรุษของพวกมัน

สมาคมเพื่อการอนุรักษ์สุนัขญี่ปุ่น (Nihon-ken Hozonkai):) (ภาษาญี่ปุ่น)
http://www.nihonken-hozonkai.or.jp/monument/

สุนัขพันธุ์อะคิตะอินุ (Akita-inu)

สุนัขพันธุ์อะคิตะอินุ (Akita-inu) และรูปปั้นของสุนัขพันธุ์อะคิตะอินุ (Akita-inu)
ชื่อฮาชิ (Hachi) ใกล้สถานีชิบุยะในโตเกียว

สุนัขพันธุ์อะคิตะอินุ (Akita-inu) เป็นสุนัขขนาดใหญ่สายพันธุ์เดียวในบรรดาสุนัขญี่ปุ่น (Nihon-ken) สายพันธุ์สงวนทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขญี่ปุ่น (Nihon-ken) สายพันธุ์อื่นๆแล้ว อะคิตะอินุ (Akita-inu) เป็นที่รู้จักในต่างประเทศค่อนข้างเร็วกว่า และมีจำนวนผู้จดทะเบียนเลี้ยงสุนัขพันธุ์อะคิตะอินุ (Akita-inu) ในต่างประเทศมากกว่าในญี่ปุ่นเอง  การที่สุนัขสายพันธุ์นี้ได้กลายเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมไปทั่วโลกเช่นนี้ เป็นอานิสงส์จากภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง “ฮาชิ หัวใจพูดได้ (Hachi : A Dog’s Tale)” ซึ่งนำแสดงโดยริชาร์ด เกียร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของสุนัขพันธุ์อะคิตะอินุ (Akita-inu) ผู้ซื่อสัตย์ในญี่ปุ่น ที่แม้นายของมันจะตายจากไปแล้ว แต่เจ้าหมาน้อยก็ยังคงมาเฝ้ารอนายของมันอย่างซื่อสัตย์และจงรักภักดีทุกวันที่สถานีรถไฟที่เขาใช้เมื่อเดินทางกลับจากทำงาน นอกจากนี้ที่เมืองคิตะ-อะคิตะ (Kita-akita City) นั้นถึงกับมีการจัดตั้งกลุ่มไอดอลธีมของสุนัขพันธุ์อะคิตะอินุ (Akita-inu) กรุ๊ปแรกของญี่ปุ่น ชื่อว่า “MOFUMOFU☆DOGS”ขึ้นมาเลยทีเดียว ทั้งยังมีมิวสิควิดีโอปล่อยออกมาแล้วด้วย

สุนัขพันธุ์ชิบะอินุ (Shiba-inu)

สุนัขพันธุ์ชิบะอินุ (Shiba-inu) คือสุนัขที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาสุนัขญี่ปุ่นหรือนิฮงเคน (Nihon-ken) ที่ได้รับการจัดให้เป็นสุนัขสายพันธุ์สงวน และมีจำนวนถึงกว่า 80% ของสุนัขนิฮงเคน (Nihon-ken) ที่มีผู้เลี้ยงในญี่ปุ่น ขณะนี้อินสตาแกรมของสุนัขพันธุ์ชิบะอินุ (Shiba-inu) ตัวหนึ่งชื่อ “มารุ (Maru)” (ชื่อเต็ม “มารุทาโร่ (Marutaro)” กำลังโด่งดังและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยภาพถ่ายของมันท่ามกลางทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามของญี่ปุ่นในฤดูกาลต่างๆ ความนิยมในตัวเจ้าหมาน้อยนี้ ทำให้อินสตาแกรมของมันมีผู้ติดตามมากถึง 2.5 ล้านคนทั่วโลกเลยทีเดียว นอกจากนี้ปัจจุบันเจ้า “มารุ” ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตการท่องเที่ยวแห่งจังหวัดมิเอะ (Mie) อีกด้วย

อินสตาแกรม “Marutaro” (ภาษาญี่ปุ่น)
https://www.instagram.com/marutaro/

นอกจากนี้สุนัขญี่ปุ่น หรือนิฮงเคน (Nihon-ken) ยังหมายรวมถึงสุนัขขนาดกลางอีก 4 สายพันธุ์ ได้แก่

  • คิชูเคน (Kishu-ken) ซึ่งโดยมากมักมีขนสีขาว
  • ชิโกะคุเคน (Shikoku-ken) ซึ่งหน้าตาดูน่าเกรงขาม คล้ายกับหมาป่าญี่ปุ่น (Nihon okami)
  • ไคเคน (Kai-ken) ซึ่งสีขนของมันมักถูกนำไปเปรียบกับขนเสือ
  • ฮอกไกโดเคน (Hokkaido-ken) ซึ่งมีทั้งขนสีน้ำตาล ขาว และดำ

เนื่องจากแต่เดิมสุนัขญี่ปุ่น หรือนิฮงเคน (Nihon-ken) นั้นเป็นสุนัขสำหรับล่าสัตว์ จึงมีอุปนิสัยเด็ดเดี่ยว กล้าตัดสินใจ และซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเจ้าของเมื่อประกอบกับลักษณะทางกายภาพที่สง่างาม จึงทำให้มีผู้ต้องการเป็นเจ้าของมากมาย หากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่นเมื่อไหร่ ก็ขอให้ลองมองหาสุนัขสายพันธุ์ญี่ปุ่นยอดนิยมเหล่านี้ดู!

Nihon-ken (Japanese Dogs), Loved Around the World
http://japan-magazine.jnto.go.jp/en/1701_japanese_dog.html

 

 

ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2017

จดหมายข่าวอื่นๆ