เที่ยวปีใหม่ในญี่ปุ่น ฉบับคนท้องถิ่น

OCT20_newyear_26

ประเพณีการเชิดสิงโตชิชิไม (Shishimai)

OCT20_newyear_24

ผู้คนต่อคิวเข้าศาลเจ้าช่วงฮัทสึโมเดะ (Hatsumode)

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประเทศญี่ปุ่นยังมีวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อที่หลายคนยังไม่เคยรู้เกี่ยวกับการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ และค่านิยมหรือประเพณีที่ยึดถือกันมายาวนาน หากต้องการรู้จักญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ก็ขอแนะนำว่าให้มาลองใช้เวลาช่วงสิ้นปีที่ญี่ปุ่นดูให้ได้สักครั้ง และในครั้งนี้จะขอแนะนำข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับธรรมเนียมประเพณี กิจกรรม และอาหารที่จะช่วยให้การส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นไปอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน

ข้อพึงระวังในการเที่ยวญี่ปุ่นช่วงวันหยุดยาวปีใหม่

ช่วงเดือนธันวาคม ไปจนถึง เดือนมกราคม ถือเป็นฤดูหนาวของประเทศญี่ปุ่น มีอุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ 0-15 องศาเซลเซียสโดยประมาณ ถึงแม้ว่าตามอาคาร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟจะเปิดเครื่องทำความร้อน แต่ว่าด้านนอกมีลม และอากาศหนาวเป็นพิเศษ
ควรเตรียมเสื้อผ้า และอุปกรณ์กันหนาวไปให้พร้อม เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นระหว่างทริป ด้านนอกสุดของเสื้อควรเป็นเส้นใยแบบกันลมตัวหนาพิเศษ ส่วนด้านในสุดแนะนำให้ใส่ลองจอห์นทับกับเสื้อคลุม สิ่งจำเป็นอย่างมากที่จะขาดไม่ได้คือ ผ้าพันคอ ถุงมือ ถุงเท้าอย่างหนาก็เป็นอีกอย่างที่สำคัญ หรือจะใช้ไคโระ (ถุงร้อน) แบบถุงใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ เดินซุกมือในกระเป๋ากำถุงไคโระ หรือไคโระแบบแผ่นบางไว้แปะด้านในเสื้อผ้าให้อุ่น สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป

ข้อพึงระวังในการเที่ยวญี่ปุ่นช่วงวันหยุดยาวปีใหม่

  1. ในช่วงวันที่ 29 ธันวาคม – 3 มกราคม ร้านรวง และสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมักจะไม่เปิดให้บริการ (ขึ้นอยู่กับร้านค้า)
  2. ในช่วงวันที่ 29 ธันวาคม – 3 มกราคม ตู้เอทีเอ็ม และธนาคารบางแห่งอาจปิดให้บริการ ควรจะเตรียมเงินสดสำหรับที่ต้องการใช้ให้มีจำนวนที่เพียงพอ
  3. วันที่ 31 ธันวาคม ร้านอาหารหรือร้านขายของหลาย ๆ ร้านจะเริ่มทยอยหยุด และห้างสรรพสินค้าเองจะปิดเร็วกว่าเวลาปกติ
  4. การคมนาคมต่าง ๆ ได้แก่ การเดินทางโดยรถไฟ รถยนต์ เครื่องบิน การจราจร และจำนวนผู้ใช้บริการอาจหนาแน่นมาก
    เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมักเดินทางจากตัวเมืองใหญ่ไปต่างจังหวัดในช่วงวันที่ 27-30 ธันวาคม และจะออกเดินทางกลับมายังตัวเมืองใหญ่ในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม เพราะฉะนั้นเวลาเดินทางไปเที่ยวแล้ว ต้องวางแพนการเดินทางให้ดี และที่สำคัญต้องระวังตัวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพาสปอร์ต และทรัพย์สินมีค่าทั้งหลาย เพราะไม่ว่าที่ไหนก็จะเต็มไปด้วยผู้คน
  5. สถานที่ที่เปิดในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ ได้แก่ วัด ศาลเจ้า และสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ

วันปีใหม่ดีต่อนักท่องเที่ยวอย่างไร

ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศของสถานที่เคาท์ดาวน์ปีใหม่ที่ขึ้นชื่อในเอเชีย โดยการฉลองปีใหม่ที่โตเกียว ทุกปีจะเริ่มมีการจุดพลุไฟเฉลิมฉลองกันทุกคืนตั้งแต่วันที่ 29 ไปจนถึงวันปีใหม่ที่พลุจะอลังการที่สุด ข้อดีของการมาเที่ยวปีใหม่ที่ญี่ปุ่นนั้น คือนอกจากจะได้แวะไปเยือนแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังมากมาย คุณยังจะได้สัมผัสวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

อาทิเช่น

  • ซื้อของในราคาถูกกว่าเพราะสักช่วง 1-2 อาทิตย์ก่อนคริสต์มาส มักจะมีการลดราคาเสื้อผ้าครั้งใหญ่
  • ซื้อถุงนำโชค (Lucky Bags) ตามห้างร้านต่าง ๆ ที่เริ่มขายหลังปีใหม่
  • เที่ยวตัวเมืองใหญ่แบบสบาย ๆ เพราะคนในเมืองมักเดินทางกลับต่างจังหวัด
  • ดื่มด่ำ และพักผ่อนไปกับธรรมชาติที่แสนพิเศษ เช่น ลานสกี หรือ บ่อน้ำร้อนธรรมชาติ
  • ดื่มด่ำบรรยากาศโรแมนติก ชมเทศกาล Illuminations ดวงไฟประดับต่าง ๆ
  • การเคาท์ดาวน์ พร้อมไฟประดับ ดอกไม้ไฟ แสง เสียงสุดอลังการ
  • นมัสการขอพรปีใหม่ที่วัด หรือศาลเจ้าพร้อมกับชาวญี่ปุ่น ซึ่งอาจสวมกิโมโนอย่างงดงาม
  • ลิ้มรสอาหารสำหรับวันปีใหม่ เพื่อนำโชคดี และขอให้มีสุขภาพแข็งแรง ในช่วงนี้ เรียวกัง และโรงแรมต่างพากันทำอาหารปีใหม่เรียกว่าโอเซจิเรียวริ (Osechi Ryori) สำหรับลูกค้าที่มาพัก ซึ่งอาหารดังกล่าวอาจมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค
  • ลิ้มรสอาหารส่งท้ายปีเก่าได้แก่ โทชิโคชิโซบะ ( Toshikoshi Soba) ทานเส้นโซบะเพื่อชีวิตที่ยืนยาวเหมือนเส้นโซบะ นับเป็นธรรมเนียมที่เริ่มตั้งแต่สมัยเอโดะ
  • ลิ้มรสการรับประทานซุปโอะโซนิ (Ozoni) อาหารที่มีมาแต่โบราณของญี่ปุ่น นิยมทานกันในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีสไตล์การปรุงเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัว
  • ชมการบรรเลงดนตรีด้วยโกโตะ (Koto)
  • ชมการเชิดสิงโตแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่าชิชิไม (Shishimai)
  • ชมพิธีการตีโมจิในวันปีใหม่ตามสถานที่ต่าง ๆ

ธรรมเนียมในวันปีใหม่ของชาวญี่ปุ่น

OCT20_newyear_08

©JNTO
คะงะมิโมจิ (Kagami Mochi)

OCT20_newyear_11

©JNTO
โอเซจิเรียวริ (Osechi Ryori)

OCT20_newyear_07

©JNTO
ต้นสนคะโดะมะสึ (Kado Matsu)

OCT20_newyear_18

©JNTO
เทศกาลไม้ตีลูกขนไก่โบราณ (Hagoita-ichi)

  • การทำความสะอาดบ้าน
  • การประดับตกแต่งห้างร้านและหน้าบ้านสำหรับต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ ด้วยคะงะมิโมจิ (Kagami Mochi) และต้นสนคะโดะมะสึ (Kado Matsu) และ ชิเมะนาวะ คาซาริ (Shimenawa Kazari)
  • การส่งไปรษณีย์บัตรปีใหม่ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เน็งกะโจ (Nengajo) เพื่ออวยพรวันปีใหม่ ให้กับ ญาติพี่น้อง เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน
  • การไปไหว้พระขอพร
  • ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ดูทีวีช่อง NHK มีรายการเพลงพิเศษ “โคฮะขุ อุตะ กักเซ็น (Kohaku uta gassen)”
  • การรับประทานโซบะ (Toshikoshi Soba) ช่วงห้าทุ่ม ก่อนเข้าสู่วันปีใหม่ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตยืนยาวเหมือนเส้นโซบะ การรับประทานซุปโอะโซนิ (Ozoni) อาหารที่มีมาแต่โบราณของญี่ปุ่น นิยมทานกันในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีสไตล์การปรุงเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัว
  • ตอนเช้าปีใหม่จนถึงวันที่สามของ วันขึ้นปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นมักรับประทานอาหารที่มีเฉพาะวันขึ้นปีใหม่ ที่เรียกว่า โอเซจิเรียวริ (Osechi Ryori) เพื่อให้โชคดี และมีสุขภาพแข็งแรง
  • การละเล่นปีใหม่ เช่น การตีลูกขนไก่ (Hagoita), การเล่นลูกข่าง (koma), การเล่นว่าว (takoage), หรือการเล่นไพ่ (karuta) เป็นต้น
  • เทศกาลไม้ตีลูกขนไก่โบราณ (Hagoita-ichi) จัดช่วงกลางเดือนธันวาคม ที่ วัดดังแห่งอาซากุสะ (Asakusa) ในโตเกียว (Tokyo) ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าไม้ฮะโกอิตะ (Hagoita) นี้ ช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ผ่านไปก่อนที่ปีใหม่จะมาเยือน ถือว่าเป็นเครื่องรางอย่างหนึ่ง ทำให้ชาวญี่ปุ่นจึงมักจะมาเลือกซื้อ เพื่อนำไปประดับบ้านก่อนวันขึ้นปีใหม่

กิจกรรมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่ญี่ปุ่น

การทำความสะอาดและตกแต่งบ้านรับปีใหม่ ที่เรียกว่า โอโซจิ (Oosoji)

OCT20_newyear_16

คะโดะมะสึ (Kado Matsu)

OCT20_newyear_23

ชิเมะคะซะริ (Shime Kazari)

กิจกรรมในช่วงของเทศกาลที่เข้าสู่ปีใหม่ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม นับเป็นวันแรกของการเตรียมตัวต้อนรับเทศกาลปีใหม่ ชาวญี่ปุ่น มักจะเริ่มต้นทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ หรือที่เรียกว่า โอโซจิ (Oosoji) โดยจะปัดกวาดสิ่งสกปรก และความโชคร้ายของปีที่ผ่านมา เพื่อต้อนรับสิ่งดี ๆ ที่จะเข้ามาในบ้านในปีถัดไป และการประดับตกแต่งหน้าบ้าน ห้างร้านสำหรับต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ ประกอบไปด้วย

  • บริเวณมุมบ้านจะมีพื้นที่เล็ก ๆ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าโทโคโนมะ (Tokonoma) เครื่องสักการะที่นำไปวางคือ คะงะมิโมจิ (Kagami Mochi) เป็นขนมโมจิที่ถูกทำให้แบนเล็กน้อย วางซ้อนกันสองชั้น และด้านบนสุดถูกประดับด้วยผลส้มซึ่งเป็นตัวแทนพระจันทร์กับพระอาทิตย์ เมื่อพ้นช่วงปีใหม่ไป ประมาณวันที่ 11 มกราคม โมจิทั้งสองลูกก็จะถูกกินเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับคนในบ้าน
  • ซุ้มสนสำหรับประดับที่ประตูรั้วบ้าน ที่เรียกว่า คะโดะมะสึ (Kado Matsu) ลำไผ่ที่บากปลายแหลมประดับด้วยใบสน ซึ่งในสมัยโบราณจะสร้างจากไม้สนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันนิยมทำจากไม้ไผ่ที่บากปลายแหลม ประดับด้วยใบสน ใบเฟิร์น ฟางข้าว และสิ่งมงคลต่าง ๆ จะประดับเป็นคู่ ที่ด้านซ้าย และด้านขวาของประตูรั้ว หรือประตูทางเข้าบริษัท ห้างร้าน ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า เพื่อต้อนรับเทพเจ้า และบรรพบุรุษ ตามความเชื่อว่าเพื่อให้เป็นที่สังเกตของเทพเจ้าให้เข้ามาในบ้านได้ถูกต้อง สนสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของต้นไม้เทพเจ้า ส่วนไผ่สีเขียวจะมีลำต้นตรง และล้มยากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว
  • บนระเบียง ด้านนอกของประตูทางเข้าบ้าน หรือ ประตูหลังบ้านจะถูกแขวนด้วย ชิเมะคะซะริ (Shime Kazari) ซึ่งเป็นเชือกศักดิ์สิทธิ์ ทำด้วยฟางข้าวนำมามัดกันเป็นฟ่อนใหญ่ ๆ ตามแบบชินโต โดยมีแถบกระดาษสีขาวห้อยเป็นพู่ประดับ และมี กิ่งไม้ รวงข้าว ส้มไดได กุ้งมังกร ใบเฟิร์น และอื่น ๆ แซมอยู่ด้วย เป็นสัญลักษณ์เพื่อเปิดทางให้เทพเจ้าท่านได้ผ่านเข้ามา

วันสิ้นปีเก่า ที่เรียกว่า โอมิโซกะ (Oomisoka)

OCT20_newyear_25

ศาลเจ้าที่ประดับด้วยคะโดะมะสึ (Kado Matsu)

OCT20_newyear_09

©PR Times
การตีระฆังโจยา โนะ คาเนะ (Jyoya no kane)

OCT20_newyear_22

งานเคาท์ดาวน์ที่มินะโตะมิไร (Minatomirai)

ในช่วงวันที่ 31ธันวาคม ก่อนถึงวันปีใหม่ จะเรียกวันนี้ว่า โอมิโซกะ (Oomisoka) เป็นวันสิ้นปีที่คนญี่ปุ่นมักจะมีกิจกรรมหลายอย่างให้ทำ เช่น
 

การฉลองส่งท้ายปีกับคนในครอบครัวอยู่ที่บ้าน

คนญี่ปุ่นมักจะจัดเตรียมอาหารมงคลเพื่อฉลองวันขึ้นปีใหม่กับครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และในตอนกลางคืนจะมีประเพณีที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างหนึ่งก็คือการรับประทาน โทชิโคชิ โซบะ (Toshikoshi Soba) ซึ่งเป็นอาหารชนิดเส้นอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น เพื่อเป็นการส่งท้ายปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป โดยเปรียบความยาวของเส้นโซบะ หมายถึงการมีสุขภาพดี และอายุยืนยาว และลักษณะที่ตัดขาดได้ง่ายให้หมายถึงการตัดเอาเรื่องร้าย ๆ ที่ผ่านมาในปีเก่าออกไป พร้อมกับดูทีวีตามช่องต่าง ๆ เช่น ช่อง NHK มีรายการเพลงพิเศษ “โคฮะขุ อุตะ กักเซ็น (kohaku uta gassen)” และต่อด้วยกับดูภาพบรรยายกาศจากวัดต่าง ๆ ผ่านการถ่ายทอดสด
 

การฉลองส่งท้ายปีด้วยกิจกรรมการตีระฆัง พร้อมกับนมัสการขอพรในวันปีใหม่ที่วัดและศาลเจ้า

กิจกรรมการไปวัดเพื่อฟังเสียงระฆังโจยา โนะ คาเนะ (Jyoya no kane) ซึ่งเป็นประเพณีที่ตามวัดชื่อดัง ๆ จะมีการตีระฆัง 108 ครั้ง เพื่อขับไล่กิเลศ และปลดปล่อยสิ่งชั่วร้ายทั้งหมด 108 อย่าง แล้วต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ด้วยจิตอันบริสุทธิ์
เนื่องด้วยคืนวันที่ 31 ธันวาคม วัดส่วนใหญ่จะเปิดตลอดคืน คนญี่ปุ่นจะพากันไปวัด และศาลเจ้าทำให้บรรยากาศเฉลิมฉลองขอพรครึกครื้นไปด้วยผู้คนจำนวนมาก และผู้หญิงบางคนก็แต่งชุดกิโมโนแบบเต็มยศอย่างสวยงาม เข้าแถวเพื่อฟังเสียงระฆัง สวดมนต์ข้ามปี ทำบุญ และอธิษฐานขอให้มีสุขภาพดี และประสบความเจริญรุ่งเรือง
อย่างที่จังหวัดเกียวโต (Kyoto) ที่ศาลเจ้ายะซะกะ (Yasaka Shrine) มีจัดเทศกาลโอะเคะระ ไมริ (Okera Mairi) หรือเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 19.30 น. ของวันที่ 31 ธันวาคมไปจนถึงห้าโมงเย็นของวันที่ 1 มกราคม มีร้านขายของตามข้างทาง และจัดงานทั้งคืนจนถึงเช้าวันใหม่ ท่ามกลางบรรยากาศที่ครึกครื้น กิจกรรมส่วนมากก็เหมือนกับที่อื่น ๆ แต่ที่พิเศษก็คือ การนำสมุนไพรโอะเคะระ (Okera) ซึ่งเป็นสมุนไพรที่เชื่อกันว่าสามารถนำพาสิ่งไม่ดีออกไปได้ มาจุดไฟที่ตะเกียงภายในศาลเจ้า จุดเด่นของเทศกาลนี้คือการนำปลายเชือกมาจุดไฟที่ตะเกียง จากนั้นก็ทำการแกว่งเชือกเป็นวงกลมต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ โดยการแกว่งเชือกที่จุดไฟในช่วงเวลาที่ไปขอพร เพื่อปัดเป่าโชคร้ายในปีที่ผ่านมาออกไป และขอให้อายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรงตลอดปีใหม่ที่กำลังมาเยือน แล้วจะนำเชือกที่เหลือจากการแกว่งกลับบ้าน เพราะเชื่อกันว่า เชือกนี้จะช่วยคุ้มครองป้องกันบ้านจากอัคคีภัย
 

การฉลองส่งท้ายปีด้วยกิจกรรมงานเคาท์ดาวน์ (Countdown)

ในช่วงตั้งแต่ค่ำคืนของวันที่ 31 ธันวาคม เรื่อยไปจนถึงเช้าวันที่ 1 มกราคม จะมีการจัดงานเคาท์ดาวน์ (Countdown) ในหลากรูปแบบตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจุดที่เต็มไปด้วยหนุ่มสาววัยรุ่น ออกมารวมตัวกันปาร์ตี้ส่งท้ายปีกัน ได้แก่

  • จุดชมวิวเจอาร์ทาวเวอร์ T98 (JR TowerObservation Deck T38), ฮอกไกโด (Hokkaido)
  • ย่านชิบูยะ (Shibuya), โตเกียว (Tokyo)
  • หอคอยโตเกียวทาวเวอร์ (Tokyo Tower), โตเกียว (Tokyo)
  • สวนสาธารณะคะไซริงไค (Kasai Rinkai Park), โตเกียว (Tokyo)
  • สวนสนุกโตเกียว ดีสนีย์แลนด์ (Tokyo Disneyland), ชิบะ (Chiba)
  • สวนสนุกคอสโม่เวิล์ด (Yokohama Cosmo World), คะนะงะวะ (Kanagawa)
  • มินะโตะมิไร (Minatomirai), คะนะงะวะ (Kanagawa)
  • ลากูน่า เทน บอช (Laguna Ten Bosch), ไอจิ (Aichi)
  • รีสอร์ทนางาชิมะ(Nagashima Resort), มิเอะ (Mie)
  • ศูนย์การค้ายูนิเวอร์แซล ซิตี้ วอล์ค (Universal Citywalk Osaka), โอซาก้า (Osaka)
  • สวนสนุกยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ เจแปน (Universal Studios Japan), โอซาก้า (Osaka)
  • อาคาร อุเมดะ สกาย บิลดิ้ง (Umeda Sky Building), โอซาก้า (Osaka)
  • ปราสาทโอซาก้า (Osaka Castle), โอซาก้า (Osaka)
  • ฮาร์ดร็อกคาเฟ่ ฟูกุโอกะ (Hard Rock Cafe Fukuoka), ฟุคุโอกะ (Fukuoka)
  • สวนสนุกเฮาส์เทนบอช (Huis Ten Bosch), นางาซากิ (Nagasaki)

ไหว้พระขอพรครั้งแรกของปี ที่เรียกว่า ฮัทสึโมเดะ (Hatsumode)

OCT20_newyear_27

สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วงฮัทสึโมเดะ(Hatsumode)

OCT20_newyear_14

ผู้คนต่อคิวเข้าวัดช่วงฮัทสึโมเดะ (Hatsumode)

เมื่อบอกลาปีเก่าเรียบร้อยแล้วจะมีธรรมเนียมไหว้พระขอพรครั้งแรกของปี ที่ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า ฮัทสึโมเดะ (Hatsumode) ซึ่งจะอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 1-3 มกราคม  ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เด็ก ๆ หรือวัยรุ่นต่างเดินทางไปต่อคิวเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และขอพรที่วัด หรือศาลเจ้าเป็นครั้งแรกของปี ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมที่ทำกันมาเนิ่นนาน หากวัด หรือศาลเจ้าใดที่เป็นที่นิยมมาก ก็จะมีผู้คนมายืนต่อคิวกันตั้งแต่คืนสุดท้ายของปี เมื่อสักการะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้คนมากมายเลือกที่จะเสี่ยงเซียมซีในช่วงปีใหม่ หรือที่เรียกว่า โอมิคุจิ (Omiguchi) เพื่อดูว่าปีใหม่นี้ชีวิตจะเป็นอย่างไร หรือควรระวังเรื่องอะไรบ้าง ต่อด้วย ดื่มเหล้าหวานเป็นสิริมงคล พร้อมเขียนใบขอพร และซื้อเครื่องรางชนิดต่าง ๆ ไว้ประดับบ้าน หรือพกติดตัวเอาเคล็ด และบริเวณนอกวัดจะมีซุ้มขายอาหาร หรือยะไตมาตั้งกันเยอะมากมาย นับเป็นไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวจะได้มาสัมผัสความเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

มารู้จักมารยาทของการไหว้ขอพรที่ถูกต้อง แล้วลองไปไหว้ขอพรปีใหม่ (Hatsumode)

วิธีการไหว้ขอพร โดยแยกได้เป็น 6 ขั้นตอนตามลำดับพร้อมความหมาย ดังนี้

  1. โยนเหรียญใส่กล่องถวายเงิน เพื่ออัญเชิญเทพเจ้าที่อยู่บนโลกมนุษย์ให้มารับกาสักการะ
  2. ลั่นกระดิ่ง โดยข้างหน้ากล่องถวายเงิน จะมีเชือกถักเส้นใหญ่ซึ่งมีกระดิ่งแขวนติดอยู่ เพื่ออัญเชิญเทพเจ้าที่อยู่บนสรวงสวรรค์ให้ลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อรับการสักการะ
  3. โค้งคำนับ 2 ครั้ง เป็นขั้นตอนการสักการะเทพเจ้าจากฟ้า และดินที่ได้อัญเชิญมา
  4. พนมมือและขอพร
  5. ปรบมือ 2 ครั้ง เป็นขั้นตอนแสดงความคารวะเทพเจ้าที่ได้มารับฟังสิ่งที่เราขอพร และขออัญเชิญให้กลับไปสถิตย์ยังที่เดิม
  6. โค้งคำนับ 1 ครั้ง เป็นการแสดงการคารวะต่อศาลเจ้าอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
วัด/ศาลเจ้า ที่อยู่
1. ศาลเจ้าฮอกไกโด (Hokkaido Jingu), ฮอกไกโด (Hokkaido)
เป็นที่สถิตย์ของเทพเจ้าโยฮะชิระผู้พิทักษ์ฮอกไกโดมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกดินแดนนี้จึงมีผู้ศรัทธาไปมนัสการมากตลอดปีเพื่อขอพรให้มีสุขภาพแข็งแรง และมีความสงบสุข
ที่ตั้ง : 474 Miyagaoka, Chuo-ku, Sapporo-city, Hokkaido
การเดินทาง : ลงที่สถานีรถไฟ Maruyamakoen
เว็บไซต์(ภาษาอังกฤษ) :
http://www.hokkaidojingu.or.jp/eng/index.html
2. ศาลเจ้าเมจิจิงกู (Meiji Shrine), โตเกียว (Tokyo)
ถือว่าเป็นศาลเจ้าที่มีคนไปไหว้มากที่สุดในช่วงปีใหม่ของทุกปี
ที่ตั้ง : Yoyogi, Shibuya, Tokyo
การเดินทาง : ลงที่สถานีรถไฟ JR Harajuku หรือที่รถไฟใต้ดินสถานี Meiji-jingu-mae
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) :
https://www.meijijingu.or.jp/en/
3. วัดโซโจจิ (Zojoji Temple), โตเกียว (Tokyo)
จุดเด่นของที่นี่คือ ปล่อยลูกโป่งที่สอดคำอธิษฐานลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าพร้อมๆ กันเป็นการปล่อยสิ่งที่ไม่ดีไปกับปีเก่าที่ผ่านไป
ที่ตั้ง : 4-7-35 Shibakoen Minato-ku, Tokyo
การเดินทาง : ลงที่สถานีรถไฟ JR Hamamatsucho
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) :
http://www.zojoji.or.jp/en/
4. วัดเซ็นโซจิ (Sensoji Temple), โตเกียว (Tokyo)
ย่านอาซากุสะนี้เป็นย่านที่เก่าแก่ตลอดถนนนากามิเซะมีการขายของทำให้ครึกครื้น
ที่ตั้ง : 2-3-1 Asakusa Taito-ku, Tokyo
การเดินทาง : ลงที่สถานีรถไฟใต้ดิน Asakusa
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) :
https://www.senso-ji.jp/english/
5.วัดนาริตะซัง (Narita-san Shinsho-ji), ชิบะ (Chiba)
เป็นวัดที่มีคนไปสักการะเป็นจำนวนมากที่เป็นอันดับสองในช่วงปีใหม่ของทุกปีอยู่ใกล้สถามบินนานาชาตินาริตะ
ที่ตั้ง : 1 Narita Narita-city, Chiba
การเดินทาง : ลงที่สถานีรถไฟ Keisei Narita หรือ ลงที่สถานี JR Narita
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) :
https://www.naritasan.or.jp/english/
6.วัดคาวาซะกิ ไดชะ (Kawasaki Daishi), คะนะงะวะ (Kanagawa)
ผู้พิทักษ์จิตวิญญาณเป็นวัดที่ว่ากันว่ามีชีวิตชีวาในช่วงวันปีใหม่จึงมีคนมาขอพรเป็นจำนวนมาก
ที่ตั้ง : 4-48 Daishimachi, Kawasaki-ku, Kawasaki-city, Kanagawa
การเดินทาง : ลงที่สถานีรถไฟ Kawasaki Daishi
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) :
http://www.kawasakidaishi.com/english/index.html
7. ศาลเจ้าอะสึตะ จิงกู (Atsuta Jingu Shrine), นาโกย่า (Nagoya)
สิ่งสักการะของศาลเจ้าแห่งนี้คือดาบคุซานางิซึ่งเป็นหนึ่งในสามเครื่องราชกกุธภัณฑ์ศักดิ์สิทธิ์ของจักรพรรดิญี่ปุ่น
ที่ตั้ง : 1-1-1 Jingu Atsuta-ku Nagoya-city, Aichi
การเดินทาง : ลงที่สถานีรถไฟ Jingu-mae
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) :
http://www.atsutajingu.or.jp/en/intro/
8. ศาลเจ้าฟูชิมิ (Fushimi Shrine), เกียวโต (Kyoto)
ศาลเจ้าอินาริ เทพจิ้งจอก เป็นเทพเจ้าแห่งการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ (ไหม) ในศาสนาชินโต มีเสาโทริอิสีแดงจำนวนมาก
ที่ตั้ง : Fukakusayabunouchi 68, Fushimi-ku, Kyoto
การเดินทาง : ลงที่สถานีรถไฟ JR Inari
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) :
http://inari.jp/en/
9.ศาลเจ้าสุมิโยชิ ไทชะ (Sumiyoshi Taisha), โอซาก้า (Osaka)
ชาวเมืองกว่า 2 ล้านคนนิยมเดินทางไปนมัสการในช่วงปีใหม่ มีชื่อเสียงเรื่องเทพเจ้าคุ้มครองความปลอดภัยทางทะเลมีประวัติยาวนานกว่า 1,800 ปี
ที่ตั้ง : 2-9-89 Sumiyoshi, Sumiyoshi-ku, Osaka
การเดินทาง : ลงที่สถานีรถไฟ Sumiyoshi Toriimae
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) :
http://www.sumiyoshitaisha.net/en/
10. Dazaifu Tenmangu, Fukuoka
เชื่อว่าศาลเจ้าแห่งนี้ จะทำให้สมหวังในเรื่องการเรียนแนะนำให้แวะลูบหัวรูปปั้นวัวภายในตัววัด
ที่ตั้ง : 4-7-1 Saifu Dazaifu-city, Fukuoka
การเดินทาง : ลงที่สถานีรถไฟ Nishitetsu Dazaifu
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) :
http://www.dazaifutenmangu.or.jp/en

เริ่มเปิดขายของเป็นครั้งแรกของปี ที่เรียกว่า ฮัตสึอุริ (Hatsu Uri)

OCT20_newyear_17

ฟุคุบุคุโระ (Fukubukuro) หรือ Lucky bag

OCT20_newyear_15

ผู้คนหนาแน่นในช่วงปีใหม่ที่งานฮัตสึอุริ (Hatsu Uri)

ช่วงเทศกาลปีใหม่ประมาณสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมของทุกปี  ตามห้างสรรพสินค้า อาคารแฟชั่น และถนนสายช้อปปิ้งต่างๆ จะนำสินค้ามาลดราคา เป็นการจัดงานฮัตสึอุริ (Hatsu Uri) ซึ่งหมายถึงการเริ่มเปิดขายของเป็นครั้งแรกของปี แต่ที่นิยมที่สุดสำหรับขาช้อปปิ้งคงจะเป็นสินค้าที่เรียกว่า ฟุคุบุคุโระ หรือ Lucky bag  เป็นช่วงนี้จะเห็นร้านค้าต่าง ๆ จัดวางถุงสีแดงและขาวมากมายแสดงไว้ที่หน้าร้าน และเป็นภาพที่จะพบได้แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น  ฟุคุบุคุโระ หรือ Lucky bag เรียกได้ว่าเป็นถุงวัดดวง  เพราะผู้ซื้อจะไม่รู้เลยว่าข้างในถุงนั้นมีอะไรบ้าง โดยถุงนี้จะนำมาจำหน่ายในราคาพิเศษตั้งแต่หลักพันเยนจนถึงหลายหมื่นเยน  ซึ่งแน่นอนว่าในถุงนั้นมีสินค้ามูลค่ามากกว่าราคาที่ตั้งขาย แต่สินค้าที่ใส่ลงในแต่ละถุงมีการคละกันมา หากผู้ซื้อเปิดถุงที่ซื้อมาแล้วพบว่ามีสินค้าถูกใจอยู่หลายชิ้นก็เท่ากับว่าเป็นปีแห่งความโชคดี สำหรับร้านค้าที่ได้รับความนิยมสูง บางครั้งจะได้พบเห็นผู้คนต่อแถวยาวเหยียดรอคิวซื้อฟุคุบุคุโระ หรือ Lucky bag ก่อนวันวางขายหลายวัน และมักจะขายหมดภายในไม่กี่นาที

ชมพระอาทิตย์แรกของปี ที่เรียกว่า ฮัตสึฮิโนะเดะ (Hatsuhinode)

OCT20_newyear_19

แสงแรกที่ภูเขาไฟฟูจิ

OCT20_newyear_10

©PR Times
แสงแรกที่ตึกโตเกียว สกาย ทรี

หนึ่งกิจกรรมสำคัญในช่วงปีใหม่ของญี่ปุ่นคือ การไปชมพระอาทิตย์ขึ้นในวันแรกของปี ที่เรียกว่า ฮัตสึฮิโนะเดะ (Hatsuhinode) ด้วยความเชื่อที่ว่าเทพเจ้าแห่งปีใหม่ จะเสด็จมายังโลกพร้อมกับพระอาทิตย์ในเช้าวันที่ 1 มกราคม และหากเราได้ขอพรต่อแสงแรกของปีจะนำพามาซึ่งความสุขตลอดทั้งปี เวลาในการชมที่ดีที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 6 โมง 45 นาที ถึง 7 โมง 25 นาที และสถานที่ที่ได้รับความนิยมได้แก่ บนภูเขา รอบภูเขาไฟฟูจิ ชายหาด  สำหรับการชมพระอาทิตย์แรกของปีนั้นหากอยู่ในเขตเมืองใหญ่ก็ขอแนะนำเป็นยอดตึกสูงต่าง ๆ

การชมพระอาทิตย์ขึ้นในวันที่ 1 มกราคมเพื่อขอพร เพราะเชื่อว่า
  • การชมพระอาทิตย์ขึ้นในวันแรกของปีใหม่นิยมทำกันตามภูเขา ทะเล สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติหรือตึกสูงที่เห็นทัศนียภาพได้ชัดเจน
  • พระอาทิตย์ที่ขึ้นในวันแรกของปีเรียกว่า ฮัตสึฮิโนะเดะ (初日の出)
  • ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่า การชมพระอาทิตย์แรกของปีมีพลังศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีเป็นที่นิยมตั้งแต่สมัยเมจิ (1868-1912)
  • ประเทศญี่ปุ่นเป็นดินแดนแห่งศาสนาชินโต จึงเชื่อว่า ดวงอาทิตย์เป็นตัวแทนเทพเจ้าที่สำคัญที่สุดในจักรวาล
  • เชื่อว่าถ้าได้เห็นแสงพระอาทิตย์แรกของปีนั้นจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี และเป็นการนำความโชคดีและความสุขมาให้ตลอดปีใหม่
  • อธิฐานให้ครอบครัวมีความสุขและมีสุขภาพแข็งแรงตลอดปี ระหว่างการชมพระอาทิตย์ขึ้นในวันแรกของปีใหม่

ข้อแนะนำ
การชมพระอาทิตย์ขึ้นในวันแรกในปีใหม่กันตาม ภูเขา หรือ ทะเล ที่เป็นสถานที่ธรรมชาติ เนื่องจากสภาพอากาศช่วงปีใหม่หนาว และลมเย็นจัดต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมในการเดินทาง ทั้งเครื่องแต่งกาย และการทานอาหารเช้าอย่างพอเพียงและควรตรวจสอบพยากรณ์อากาศก่อนเดินทาง เนื่องจากบางสถานที่หากมีหิมะตกหนัก อาจมีการปิดเส้นการจราจรได้

ชมยอดภูเขาไฟฟูจิ (Mt. Fuji) กับพระอาทิตย์แรกของปี

“ฟูจิ” ภูเขาแห่งความงามและแรงบันดาลใจ เป็นสถานที่พิเศษที่ชาวญี่ปุ่นเคารพนับถือมา ตั้งแต่โบราณเพราะเป็นภูเขาซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ บ้างก็เชื่อว่าภูเขาทั้งลูกคือเทพเจ้า ดังนั้นภูเขาไฟฟูจิเป็นจุดหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญพร้อมกับสถานที่โดยรอบที่สามารถชมภูเขาไฟฟูจิ กับ แสงอาทิตย์แรกเช้าแห้งแรกของปี ซึ่งในบางครั้งถ้าโชคดีก็จะได้เห็น Diamond Fuji คือ ปรากฏการณ์ที่พระอาทิตย์อยู่ด้านหลังภูเขาฟูจิ และแสงอาทิตย์ส่องผ่าน ตรงบริเวณปากปล่องภูเขาฟูจิพอดี ทำให้ดูเหมือนเพชร

Mt. Fuji    https://www.jnto.or.th/attractions/mt-fuji/

เมือง / จังหวัดที่สามารถมองเห็นฟูจิได้ ในวันอากาศดี

โตเกียว(Tokyo)                ชิบะ (Chiba)       โยโกฮามะ(Yokohama)             คะนะงะวะ(Kanagawa)

ฮาโกเนะ(Hakone)          ยะมะนะชิ (Yamanashi)               ชิซุโอกะ (Shizuoka)

สถานที่แนะนำในการชมพระอาทิตย์แรกแห่งปีที่สามารถมองเห็นฟูจิได้ ในวันอากาศดี อาทิเช่น

  • หอคอยโตเกียวทาวเวอร์ (Tokyo Tower), โตเกียว (Tokyo)
  • ย่านโอไดบะ (Odaiba), โตเกียว (Tokyo)
  • ชายฝั่งโฮโจ ไคกัง และสวนสาธารณะชิโระยะมะ (Hojo-kaigan Coast and Shiroyama Park), ชิบะ (Chiba)
  • แถบชายฝั่งทะเลอินะมุระกะซะงิ (Kanagawa Inamuragasaki Area), แถบชายฝั่งทะเลคะมะคุระ (Kamakura’s Beaches Area), คะนะงะวะ(Kanagawa)
  • เกาะเอโนะชิมะ (Enoshima Island Area), คะนะงะวะ(Kanagawa)
  • แถบฮะโกะเนะ (Hakone Area), คะนะงะวะ(Kanagawa)
  • คาวากูจิโกะสถานีที่ 5 (Kawaguchiko 5 th Station), ยะมะนะชิ (Yamanashi)
  • ทะเลสาบทั้ง 5 โดยรอบภูเขาไฟภูจิ ได้แก่
    • ทะเลสาบคาวากูจิโกะ (Lake Kawaguchi-ko)
    • ทะเลสาบยะมะนะคะโกะ (Lake Yamanaka-ko)
    • ทะเลสาบโมโตสุโกะ (Lake Motosu-ko)
    • ทะเลสาบไซโกะ (Lake Sai-ko)
    • ทะเลสาบโชจิโกะ (Lake Shoji-ko)
  • ชายหาดมิโฮ (Miho-no-Matsubara), ชิซุโอกะ (Shizuoka)
  • ท่าเรือชิมิซุ (Port of Shimizu Bay Cruise), ชิซุโอกะ (Shizuoka)
  • เนินเขานิฮงไดระ (Nihondaira), ชิซุโอกะ (Shizuoka)
  • โกเท็มบะ (Gotemba), ชิซุโอกะ (Shizuoka)

สถานที่แนะนำสำหรับการชมพระอาทิตย์แรกของปี
ตามสถานที่วิวธรรมชาติที่สวยงามได้แก่ บนภูเขา ชายหาด ลานสกี บ่อน้ำร้อน และอื่นๆ อาทิเช่น

  1. ภูเขาโมอิวะ (Moiwa Mt. Sapporo), ฮอกไกโด (Hokkaido)
    https://www.sapporo.travel/find/nature-and-parks/mount_moiwayama/?lang=th
  2. แหลมโซคันซัง มัตสึชิมะ (Sokanzan Matsushima), มิยะงิ (Miyagi)
    https://www.matsushima-kanko.com/en/
  3. ภูเขาทาคาโอะ (Takaosan Mt.),โตเกียว (Tokyo)
    http://www.takaotengu.com/
    https://www.jnto.or.th/newsletter/mt-takao
  4. แหลมอินุโบซะกิ (Inubosaki), ชิบะ (Chiba)
    https://www.japan.travel/en/spot/1547
  5. ภูเขาคงโก (Kongo Mt.), โอซาก้า (Osaka)
    http://www.osaka-info.jp/th/facilities/cat31/post_255.html
  6. ยอดเขาโอยะมะ หรือจุดชมวิวไดคังโบะ บนเส้นทางอัลไฟน์ ทะเทะยะมะคุโรเบะ (Tateyama Kurobe Alpine Route), โทยามะ (Toyama)
    http://foreign.info-toyama.com/th/tokushu/tateyama/stay.html
  7. ชายฝั่งทะเล ชมหินคู่รัก ( Bungo Futamigaura),โออิตะ (Oita)
    http://www.saiki-kankou.com/en/tour/detail?id=14

เล่นสกี และสถานพักตากอากาศในญี่ปุ่นช่วงวันหยุดปีใหม่

OCT20_newyear_20
OCT20_newyear_21

ฤดูหนาวของญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูของการเล่นสกี ผู้คนนิยมมาเล่นสกีในช่วงปีใหม่ และวันหยุด เพราะนอกจากจะได้เล่นสกีแล้ว ยังได้ชมไฟประดับ แสงพลุสวย ๆ พร้อมกับแช่อนเซ็น และเที่ยวเทศกาลต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งแต่ละสถานที่จะมีการจัดเทศกาลพิเศษแตกต่างกันออกไป หรือสำหรับใครที่ไม่ถนัดเล่นสกี ก็สามารถเดินทางไปพักผ่อน แช่อนเซ็นได้ โดยอนเซ็นที่คนญี่ปุ่นนิยมเดินทางไปในช่วงวันหยุดปีใหม่

รายชื่อแหล่งอนเซ็นยอดนิยมในช่วงปีใหม่ จังหวัด
โซอุนเคียว อนเซ็น
(Sounkyo Onsen)
ฮอกไกโด (Hokkaido)
https://sounkyo-kankou.co.jp/
นิวโตะอนเซ็น
(Nyuto Onsen)
จังหวัดอะคิตะ (Akita)
http://www.nyuto-onsenkyo.com/
มะสึคะวะอนเซ็น
(Matsukawa Onsen)
จังหวัดอิวะเตะ (Iwate)
https://matsukawasou.com/
กินซังอนเซ็น
(Ginzan Onsen)
จังหวัดยะมะงะตะ (Yamagata)
http://www.ginzanonsen.jp/
คุซัทสึอนเซ็น
(Kusatsu Onsen)
จังหวัดกุมมะ (Gunma)
https://www.kusatsu-onsen.ne.jp/
โอคุนิคโกะ ยุโมโตะ อนเซ็น
(Okunikko Yumoto Onsen)
จังหวัดโทชิงิ (Tochigi)
http://www.nikkoyumoto.com/
ยุนิชิกาวะ อนเซ็น
(Yunishigawa Onsen)
จังหวัดโทชิงิ (Tochigi)
http://www.nikko-kankou.org/spot/34/
ชิระโฮะเนะ อนเซ็น
(Shirahone Onsen)
จังหวัดนะงะโนะ (Nagano)
http://www.shirahone.org/
เอจิโกะ ยูซาวะ อนเซ็น
(Echigo Yuzawa Onsen)
จังหวัดนะงะโนะ (Nagano)
https://www.snow-country-tourism.jp/
คุโระกาวะ อนเซ็น
(Kurokawa Onsen)
จังหวัดคุมะโมโตะ (Kumamoto)
https://www.kurokawaonsen.or.jp/

** การจัดอันดับดังกล่าว อิงมาจากเว็บไซต์ https://www.travel.co.jp/guide/matome/2649/

รายชื่อลานสกียอดนิยมในช่วงปีใหม่ จังหวัด
นิเซโกะ ยูไนเต็ด
(Niseko United)
ฮอกไกโด (Hokkaido)
https://www.niseko.ne.jp/en/
ซาโอะ ออนเซน สกีรีสอร์ท
(Zao onsen ski resort)
ยะมะงะตะ (Yamagata)
http://www.zao-spa.or.jp/english/ski/
นาเอบะ สกีรีสอร์ท
(Naeba Ski resort)
นีงะตะ(Niigata)
http://www.naeba.gr.jp/en/
ไมโกะ สโนว์ รีสอร์ท
(Maiko Snow Resort)
นีงะตะ(Niigata)
https://www.snowjapan.com/japan-ski-resorts/maiko-snow-resort
กาล่า ยูซาวา สกี รีสอร์ท
(GALA Yuzawa ski resort)
นีงะตะ(Niigata)
https://gala.co.jp/winter/thai/
ชิกะโคเก็น สกี แอเรีย
(Shiga Kogen Ski Area)
นะงะโนะ (Nagano)
https://www.shigakogen-ski.com/en
โนซาวะ ออนเซน สกี รีสอร์ท
(Nozawa onsen ski resort)
นะงะโนะ (Nagano)
http://www.nozawaski.com/en/
ฮาคุบะ ฮัปโป โอเนะ สกีรีสอร์ท
(Hakuba Happo-one ski resort)
นะงะโนะ (Nagano)
https://www.happo-one.jp/en/
ริวโอ สกี พาร์ค
(Ryuoo Ski Park)
นะงะโนะ (Nagano)
https://www.ryuoo.com/snow/gelande/academy.php
ไดน่าแลนด์
(Dynaland)
กิฟุ (Gifu)
https://www.dynaland.co.jp/

** การจัดอันดับดังกล่าว อิงมาจากเว็บไซต์ https://www.ski-ichiba.jp/navi/article/270/#index-1

รับประทานอาหารสิริมงคลในเทศกาลปีใหม่

เริ่มต้นปีใหม่แบบนี้ นอกจากการออกไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทำบุญตามสถานที่ต่าง ๆ แล้ว อาหารก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าหากได้ทานในช่วงปีใหม่แบบนี้จะเป็นการเพิ่มความเป็นสิริมงคลได้อีกหนึ่งทางเช่นกัน

โทชิโคชิโซบะ (Toshikoshi Soba)

OCT20_newyear_04

© JNTO

OCT20_newyear_01

© JNTO

ประเพณีทานโซบะในวันสิ้นปี ซึ่งเรียกว่า โทชิโคชิโซบะ (Toshikoshi Soba) หรือการทานโซบะข้ามปี เป็นประเพณีที่มีมานาน นับตั้งแต่สมัยเอโดะ โดยจะนำโซบะมารับประทานกันเพื่อความเป็นสิริมงคล
เมนูโซบะถือเป็นอาหารมงคลที่มีความหมายดี อย่างเช่นเส้นโซบะที่ยาว หมายถึงการมีชีวิตที่ยืนยาว สุขภาพแข็งแรง และเส้นโซบะที่ขาดง่าย หมายถึงการตัดเอาสิ่งชั่วร้าย หรือความทุกข์ในปีเก่าทิ้งไป และอีกเหตุผลหนึ่งที่นิยมทานโซบะในช่วงสิ้นปี เพราะว่าเป็นช่วงที่ทุกคนส่วนใหญ่จะวุ่นวายอยู่กับการทำความสะอาด และตกแต่งบ้าน การทานโซบะในวันนี้ก็เพราะเป็นอาหารที่ทำรับประทานได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก หากบ้านไหนที่ไม่ได้ทำโซบะทานเอง ก็สามารถออกไปทานที่ร้านได้ จะพบว่ามีผู้คนมากมายมารอทานโซบะข้ามปี

โอเซจิเรียวริ (Osechi Ryori)

OCT20_newyear_06

© JNTO

OCT20_newyear_02

© JNTO

ในเช้าวันปีใหม่ ครอบครัวชาวญี่ปุ่นจะล้อมโต๊ะกันทานอาหารชุดที่เรียกว่า โอเซจิเรียวริ (Osechi Ryori) นิยมรับประทานกันในวันที่ 1-3 มกราคมของทุกปี ซึ่งอาหารเหล่านี้จะถูกจัดวางในปิ่นโตเรียกว่า จูบะโกะ (Jubako) วางซ้อนกันอย่างสวยงาม ซึ่งแต่ละชั้นก็จะมีอาหารมงคลที่แตกต่างกันไป เดิมทีโอเซจิเรียวริ (Osechi Ryori) มี 4 ชั้น แต่ปัจจุบันส่วนมากลดลงเหลือทำแบบ 3 ชั้นซึ่งมีความหมายดังนี้
ชั้นที่ 1 (อิจิโนจู) เครื่องเคียงมงคล (อาหารรสหวานเป็นเครื่องเคียงหมักกับสาเก) เช่น ลูกชิ้นปลาบด, มันหวานบด, ถั่วดำ
ชั้นที่ 2 (นิโนจู) อาหารย่าง ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเลที่มีความหมายมงคล เช่น ปลาไท, กุ้ง, ปลาบุรี
ชั้นที่ 3 (ซันโนจู) ของต้ม มีความหมายถึงสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ได้จากภูเขา เช่น รากบัว, โกโบ, เผือก
ดังนั้นในช่วงวันปีใหม่นี้ ทั้งเรียวกัง และโรงแรมก็มี โอเซจิเรียวริ (Osechi Ryori) สำหรับลูกค้าที่มาพักในช่วงปีใหม่ ลองหาแพ็คเก็จพิเศษ ๆ สำหรับที่พักพร้อมโอเซจิเรียวริ (Osechi Ryori) เพื่อที่จะได้เข้าถึงบรรยากาศ พร้อมวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น ซึ่งในบางสถานที่ยังมีการบรรเลงดนตรีด้วยโกโตะ (Koto) หรือ มีการเชิดสิงโตแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า ชิชิไม (Shishimai)

โอเซจิเรียวริ (Osechi Ryori) จะประกอบด้วยอาหารหลายชนิด ที่มีความหมายอันเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น คือ

  • ถั่วดำ (Kuro mame) พ้องเสียงกับคำว่า มะเมะ (Mame) หมายถึงความขยันขันแข็ง ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี
  • สาหร่ายคมบุม้วน (Kobu maki) ขอพรให้ทั้งปีมีแต่เรื่องน่ายินดี สมาชิกในครอบครัวรักสามัคคีกัน
  • คามาโบโกะ (Kamaboko) ลูกชิ้นปลาเส้นผิวนอกสีชมพู แสดงถึงความน่ายินดี เนื้อในสีขาวแสดงถึงความบริสุทธิ์ ให้เริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ที่ดี
  • ไข่ปลาเฮอริง (Kazu no ko) ปลาเฮอริง เป็นปลาที่วางไข่เป็นจำนวนมาก สื่อถึงการมีลูกหลานมากมาย
  • ปลาไท(Tai) พ้องเสียงกับคำว่า เมะเดะไท (medetai) ที่เป็นว่าน่ายินดี ความเป็นมงคล
  • ลูกปลาซาร์ดีนตากแห้ง สิ่งที่สื่อความหมายถึง การเพาะปลูกพืชไร่ให้ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์
  • กุ้ง (Ebi) ตัวกุ้งงอดูคล้ายผู้สูงอายุหลังค่อม ขอให้มีอายุยืนยาวจนหลังงองุ้ม
  • ไข่ม้วน (Datemaki) สีเหลืองของไข่แสดงถึงโชคลาภ และเงินทอง เพื่อขอให้มีฐานะมั่งคั่ง
  • เกาลัดบด (Kurikinton) สิ่งที่สื่อความหมายถึง เงินทองไหลมาเทมา ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรืองตลอดทั้งปี
  • รากบัวต้ม (Renkon) มีลักษณะเป็นรูกลมกลวง ๆ สื่อถึงสามารถมองเห็นอนาคตที่กว้างไกล มีทัศนวิสัยที่ดี
  • รากไม้โกะโบว (Gobou) รากไม้โกะโบว เป็นรากไม้ที่ยาวเติบโตอยู่ในดิน มีความแข็งแรงทนทาน สื่อถึงสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคง หนักแน่น ทนต่อความยากลำบากได้ดี
  • ไชเท้าและแครอทดอง (Kouhaku namasu) สิ่งที่สื่อความหมายถึง เปรียบเสมือนกับเป็นเครื่องรางทีดี
  • เผือกต้ม (Satoimo) สิ่งที่สื่อความหมายถึง มีลูกหลานมากมาย

เทศกาลตำโมจิ (Mochitsuki)

OCT20_newyear_03

© JNTO
ซุปโอะโซนิ (Ozoni)

OCT20_newyear_05

© JNTO
คะงะมิโมจิ (Kagamimochi)

โมจิ (Mochi) ถือเป็นอาหารมงคลในหลายโอกาสของชาวญี่ปุ่น และยังเป็นเครื่องสักการะเทพเจ้าด้วยเช่นกัน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นจะมีการทำโมจิแบบดั้งเดิมนั้นเรียกว่า โมจิทสึกิ (Mochitsuki) เป็นเทศกาลส่งท้ายปีเก่าที่สืบทอดมาแต่โบราณ แม้ในปัจจุบันจะหาชมได้เฉพาะช่วงสิ้นปี วิธีการทำจะเริ่มจากการใส่ข้าวเหนียวลงในครกไม้ขนาดใหญ่ โดยที่คนหนึ่งใช้สากไม้ขนาดใหญ่ที่เรียกว่าคิเนะ (kine) ตำลงไปเป็นจังหวะ และอีกคนคอยนวดด้วยมือเปล่าสลับไปมาโดยใช้ความเร็วสูง
ในช่วงปีใหม่นั้นชาวญี่ปุ่นจะนิยมประดับคะงะมิโมจิ (Kagamimochi) ไว้ในบ้าน และยังนำโมจิทำการไหว้เสร็จพิธีแล้ว นำมาทำเป็นอาหารที่เรียกว่าโอะโซนิ (Ozoni) คืออาหารประเภทซุปร้อนๆ ที่ใส่โมจิลงไปด้วย และในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีสไตล์การปรุงเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำซุป หรือเครื่องเคราที่ใส่ลงไป

จดหมายข่าวอื่นๆ