คันโต (Kanto) นับเป็นภูมิภาคศูนย์กลางของญี่ปุ่น เป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียว (Tokyo) และ โยโกฮามะ (Yokohama) คนจึงมักจะสนใจแต่เมืองใหญ่ๆ เหล่านี้ แต่อันที่จริงแล้วบริเวณรอบๆ เมืองใหญ่ก็มีอาหารท้องถิ่นน่าสนใจอยู่มากมาย ซึ่งหากไม่ไปถึงที่ ก็จะไม่ได้ลิ้มรสชาติต้นฉบับที่แท้จริง ในครั้งนี้เราได้คัดเลือกอาหารท้องถิ่น 8 ชนิดที่สามารถหาทานได้เฉพาะในแถบคันโตเท่านั้นมาแนะนำให้ได้รู้จักกัน
ข้าวอบหม้อดิน โทเงะโนะคะมะเมะชิ (Toge no Kamameshi), กุมมะ (Gunma)
โทเงะโนะคะมะเมะชิ (Toge no Kamameshi) คือเมนูข้าวกล่องชนิดหนึ่งสำหรับทานบนรถไฟ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “เอะคิเบ็น (Ekiben)” นั่นเอง โดยเมนูโทเงะโนะคะมะเมะชิ (Toge no Kamameshi) นี้มีวางขายอยู่ตามสถานีรถไฟหรือจุดจำหน่ายสินค้าแบบไดรฟ์อินบริเวณรอบๆ เมืองอันนะกะ (Annaka City) จังหวัดกุมมะ (Gunma) เป็นข้าวอบหม้อดินซึ่งมีลักษณะเด่นตรงบรรจุอยู่ในหม้อดินเผาที่สามารถนำกลับไปใช้ต่อได้เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว รสชาติละมุน ด้านบนโปะด้วยไข่นกกระทา เกาลัด รากไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่าโกะโบ (Gobo) เห็ดหอม หน่อไม้ และเนื้อไก่ เป็นต้น และหากโชคดีอาจได้กล่องที่เพิ่งทำเสร็จร้อนๆ ด้วย
อุทสึโนะมิยะเกี๊ยวซ่า (Utsunomiya Gyoza), โทชิงิ (Tochigi)
เกี๊ยวซ่า (Gyoza) ในประเทศจีนและประเทศเชื้อสายจีนอื่นๆ นั้น โดยทั่วไปจะเป็นเกี๊ยวซ่าต้มเสียส่วนมาก แต่ในญี่ปุ่นนิยมรับประทานเกี๊ยวซ่าแบบย่างมากกว่า เมืองอุทสึโนะมิยะ (Utsunomiya City) จังหวัดโทชิงิ (Tochigi) เป็นเมืองที่มีเกี๊ยวซ่าย่างสูตรอร่อยขึ้นชื่อ เรียกว่า “อุทสึโนะมิยะเกี๊ยวซ่า (Utsunomiya Gyoza)” หรือเกี๊ยวซ่าสไตล์อุทสึโนะมิยะนั่นเอง ถือเป็นเมนูเด่นประจำท้องถิ่น ซึ่งมีร้านที่ขายเกี๊ยวซ่าโดยเฉพาะอยู่มากกว่า 200 แห่งทั่วเมือง ลักษณะเด่นของเกี๊ยวซ่าสไตล์อุทสึโนะมิยะคือตัวไส้จะมีส่วนผสมของผักในท้องถิ่นอย่างผักกาดขาว กุยช่าย และกะหล่ำปลี
หม้อไฟปลาอังโค (Anko Nabe), อิบะระกิ (Ibaraki)
ปลาอังโค (Anko) คือปลาที่จับได้ในทะเลแถบอิบะระกิ (Ibaraki) นับเป็นปลาที่หรูหราราคาแพงและเป็นที่นิยมมากพอๆ กับปลาปักเป้าหรือฟุกุ (Fugu) ในญี่ปุ่นฝั่งตะวันตก ปลาอังโคเป็นปลาทะเลน้ำลึก เนื้อมีไขมันน้อย แต่อุดมด้วยคอลลาเจน และทานได้ทุกส่วนยกเว้นก้าง จนว่ากันว่าแทบไม่มีส่วนไหนที่ทานไม่ได้เลยทีเดียว นิยมนำมาต้มทานในหม้อไฟรวมกับผักชนิดต่างๆ เรียกว่า “อังโคนาเบะ (Anko Nabe)” หรือหม้อไฟปลาอังโคนั่นเอง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงกลางฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นช่วงที่ “ตับ” ของปลาอังโคจะพองโตและมีรสชาติอร่อยมากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังเป็นปลาที่นิยมในหมู่สุภาพสตรีเช่นกันเพราะให้แคลอรี่ต่ำ
เส้นโฮโต (Hoto Noodles), ยะมะนะชิ (Yamanashi)
เส้นโฮโต (Hoto Noodles) คืออาหารพื้นบ้านของจังหวัดยะมะนะชิ (Yamanashi) มีลักษณะเด่นชัดเจนตรงที่เป็นเส้นแบนกว้างและรสสัมผัสเหนียวนุ่มคล้ายอุด้ง (Udon) แต่ไม่สู้ฟันเท่า เมื่อต้มไปนานๆ เส้นจะเปื่อยเหนียวนิ่มลง เวลาทานจะนำเส้นนี้มาต้มในหม้อไฟรวมกับวัตถุดิบอื่นๆ ทั้งเห็ดและผักชนิดต่างๆ ปรุงรสด้วยมิโซะ วัตถุดิบที่สำคัญเป็นพิเศษในการทำหม้อไฟโฮโตก็คือฟักทอง และเมื่อมีมิโซะ ผักต่างๆ และตัวเส้น ต้มรวมในซุปจนเข้ากันได้ที่ จะทำให้น้ำซุปหม้อไฟโฮโตมีรสหวานอันเป็นเอกลักษณ์ นับเป็นเมนูที่อยากแนะนำให้ลองหาชิมดูโดยเฉพาะในฤดูที่อากาศหนาวเย็น
ราเม็งเต้าหู้ (Tofu Ramen), ไซตะมะ (Saitama)
ราเม็งเต้าหู้ (Tofu Ramen) คือเมนูราเม็งในซุปรสโชยุ ราดด้วยเต้าหู้ผัดกับหมูสับปรุงเป็นน้ำข้นหนืดคล้ายราดหน้า เป็นอาหารคลาสบี (B-class gourmet) แห่งเมืองไซตะมะ (Saitama) หน้าตาอาจดูคล้ายกับเมนูเต้าหู้ผัดพริกเสฉวน หรือที่เรียกว่า “มาโบโดฟุ (Mabodofu)” แต่ไม่เผ็ดเท่า ทานได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ในตัวเมืองไซตะมะมีร้านขายราเม็งเต้าหู้ร้านดังอยู่หลายแห่ง หากได้ลองตระเวนชิมเปรียบเทียบรสชาติของแต่ละร้านดูคงน่าสนุกดีไม่น้อย
ฟุโตะมะกิซูชิ (Futomakizushi), ชิบะ (Chiba)
ฟุโตะมะกิซูชิ (Futomakizushi) เมนูพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาของแถบคาบสมุทรโบโซ (Boso Peninsula) ในจังหวัดชิบะ (Chiba) เป็นเมนูซูชิแบบม้วน หรือที่เรียกกันว่า “มะกิซูชิ (Makizushi)” ที่นิยมทำทานกันในช่วงเทศกาลสำคัญประจำปีและในโอกาสหรือพิธีสำคัญต่างๆ โดยนอกจากข้าวคลุกน้ำส้มสายชูหรือที่เรียกกันว่า “ซุเมะชิ (Sumeshi)” สีขาวแบบปกติแล้ว ก็จะมีการใช้ข้าวซุเมะชิที่ย้อมเป็นสีต่างๆ เช่นชมพูและเขียวด้วย และสำหรับไส้ก็จะใช้วัตถุดิบหลากชนิด เช่นไข่ทอดแผ่นบาง ผักอะโอะนะ (Aona) สาหร่ายอบแห้ง (Nori) ผักดองคัมเปียว (Kanpyo) และโกะโบภูเขา (Yama-gobo) เป็นต้น เมื่อม้วนเสร็จแล้วตัดตามขวาง ก็จะเห็นเป็นรูปหรือลวดลายต่างๆ ดูสวยงาม ปกติแล้วนิยมทำเป็นรูปดอกไม้ แต่ปัจจุบันก็มีการทำเป็นรูปอื่นๆ เช่น ผีเสื้อ แพนด้า และคาแรคเตอร์ยอดนิยมต่างๆ ด้วยเช่นกัน
มงจะยากิ (Monjayaki), โตเกียว (Tokyo)
มงจะยากิ (Monjayaki) เป็นเมนูท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาในย่านดาวน์ทาวน์หรือชิตะมะจิ (Shitamachi) ของโตเกียว (Tokyo) ทำโดยการนำแป้งสาลีมาละลายน้ำในปริมาณค่อนข้างมาก ปรุงรสด้วยซอสหรือโชยุให้เข้ากับวัตถุดิบเครื่องเคราที่ใส่ลงไป แล้วจึงนำไปย่างบนแผ่นกระทะเหล็กโดยใช้ “เฮะระ (Hera)” หรือตะหลิวขนาดจิ๋วค่อยๆ แซะทาน เครื่องเคราหลักๆ ที่ใช้ได้แก่ กะหล่ำปลีและขิงดองหั่นฝอยสีแดง สาหร่ายป่นและกุ้งแห้งซากุระเอบิ (Sakura-ebi) เนื้อสับและไข่ปลาค้อดดองเผ็ดเมนไทโกะ (Mentaiko) โมจิ (Mochi) ชีส และเส้นบะหมี่อบกรอบ เป็นต้น อาหารประเภทใกล้เคียงกันกับมงจะยากิ ก็คือ โอะโคะโนะมิยากิ (Okonomiyaki) แต่ มงจะยากิจะเหลวกว่าและโดยทั่วไปจะไม่ใส่ไข่ หาทานได้ตามร้านที่ขายมงจะยากิโดยเฉพาะในย่านอะซะกุสะ (Asakusa) และย่านทสึกิชิมะ (Tsukishima)
ข้าวหน้าปลาชิระซุ (Shirasu-don), คะนะงะวะ (Kanagawa)
ข้าวหน้าปลาชิระซุ (Shirasu-don) เป็นเมนูที่นำปลาชิระซุ (Shirasu) (ลูกของปลาอิวาชิ (Iwashi) ตัวเล็กๆ และปลาชนิดอื่นๆ) จำนวนมากมาโปะลงบนข้าวสวย แล้วเสริมด้วยเครื่องเคียงอื่นๆ เช่น ไข่แดง ต้นหอม ใบชิโสะ (Shiso) และสาหร่ายอบแห้งหั่นฝอย แล้วราดด้วยน้ำจิ้มหรือโชยุ ส่วนใหญ่แล้วข้าวหน้าปลาชิระซุมักจะใช้ปลาชิระซุต้มเกลือ หรือที่เรียกว่า “คะมะอาเงะชิระซุ (Kamaage Shirasu)” หรือปลาชิระซุแห้งที่เรียกว่า “ชิริเม็งจะโกะ (Chirimenjako)” เป็นหลัก แต่ในแถบคามาคุระและเอโนะชิมะซึ่งอยู่ติดทะเลนั้น บางครั้งจะใช้เป็นปลาชิระซุดิบๆ แทน เรียกเมนูข้าวหน้าปลาชิระซุดิบนี้ว่า “นะมะชิระซุด้ง (Namashirasu-don)” ให้รสสัมผัสลื่นลิ้นและได้กลิ่นหอมจากทะเลไปพร้อมๆ กัน
[ เพจที่เกี่ยวข้อง ]
- แนะนำแหล่งตระเวนกินของอร่อยในโตเกียว!
- อิ่มหนำสำราญ กับสุดยอดอาหารอร่อย ที่เกาะฮอกไกโด (Hokkaido)
- แนะนำอาหารอร่อยของภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku)
- อาหารจานเด่น ที่ไม่ควรพลาดของคันไซ (Kansai)
- อาหารเลิศรส ตามสไตล์ท้องถิ่นแห่งภูมิภาคชูโงะคุ (Chugoku)
- ชวนชิมของอร่อย อาหารท้องถิ่นแห่งคิวชู (Kyushu)
- ขนมหวานญี่ปุ่นเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์
- ไปเที่ยวสวนดอกไม้ในภูมิภาคคันโตในช่วงฤดูร้อน และ ฤดูใบไม้ร่วงกันเถอะ!
- 16 เส้นทางแนะนำท่องเที่ยวทั่วญี่ปุ่น ระยะเวลา 5-7 วัน
ข้อมูล ณ พฤศจิกายน 2017