ย้อนรอยประเพณีโบราณ ตราประทับโกะชุอิน (Goshuin)

นอกจากจะไปทำบุญตามวัดและศาลเจ้าในญี่ปุ่นแล้ว ลองมาไล่เก็บตราประทับหรือโกะชุอิน (Goshuin) ตามประเพณีโบราณกันดีกว่า…

โกะชุอิน (Goshuin) หมายถึง ตราที่เราจะได้รับการประทับเมื่อไปนมัสการวัดหรือศาลเจ้า ลักษณะเป็นตราประทับสีแดง พร้อมด้วยตัวอักษรเขียนด้วยหมึกสีดำ ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวญี่ปุ่นมักจะนำกลับไปเก็บไว้ที่บ้าน โดยวางไว้ใกล้ๆ กับพระพุทธรูป ตัวอักษรที่เขียนด้วยหมึกอันงดงามรวมถึงดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้โกะชุอินได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะเป็นผลงานศิลปะอย่างหนึ่งเลยทีเดียว

“โกะชุอินโจ (Goshuincho)”
สมุดสำหรับเก็บสะสมตราประทับโกะชุอิน (Goshuin)

ประเทศญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยวัดและศาลเจ้ามากมายมาตั้งแต่สมัยโบราณ และก็มีธรรมเนียมในการขอให้ทางวัดหรือศาลเจ้าที่ตนไปนมัสการนั้นช่วยประทับตราโกะชุอินนี้ลงบนสมุดโน้ตที่เรียกว่า โกะชุอินโจ (Goshuincho) เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานว่าได้เคยไปนมัสการมาแล้ว ในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากที่นิยมเดินทางไปยังจุดเสริมดวง หรือที่เรียกกันว่าเป็น power spot (สถานที่ๆ ช่วยให้ดวงชะตาดีขึ้น) จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ “โกะชุอินโจ” กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ซึ่งก็มีหลายแบบหลากสไตล์ ทั้งแบบญี่ปุ่นโบราณ แบบหลากสีสัน หรือแบบที่มีคาแรคเตอร์จากการ์ตูนเรื่องต่างๆ เป็นต้น

© Photo AC

© MenouNoMiseKawashima

© photoAC

goshuin-04

© amgrrow Co.,Ltd

ในครั้งนี้เราจะมาแนะนำวิธีการอ่านโกะชุอิน (Goshuin) กัน

© photo AC

วิธีการอ่านโกะชุอิน (Goshuin) โดยทั่วไป (วัดพุทธ)

  1. ตราประทับสัญลักษณ์ของวัด
  2. ตัวอักษรแสดงชื่อพระประธานของวัด
  3. ตราประทับสัญลักษณ์พระประธานของวัด
  4. ตัวอักษรแสดงชื่อวัด
  5. ตราประทับสัญลักษณ์ของวัด
  6. วันที่เข้านมัสการ

วิธีการอ่านโกะชุอิน (Goshuin) โดยทั่วไป (ศาลเจ้าชินโต)

  1. ตัวอักษรที่มีความหมายว่าได้มานมัสการแล้ว
  2. ตราประทับสัญลักษณ์ของศาลเจ้า
  3. ชื่อศาลเจ้า
  4. สัญลักษณ์ประจำศาลเจ้า
  5. วันที่เข้านมัสการ
  6. อื่นๆ (เช่น เรื่องที่สำคัญหรือเกี่ยวข้องกับศาลเจ้านั้นๆ เป็นต้น)

การขอประทับตราโกะชุอิน (Goshuin)

  • 1. ตรวจสอบข้อมูลล่วงหน้า

    เนื่องจากไม่ใช่วัดและศาลเจ้าทุกแห่งจะมีตราประทับโกะชุอิน จึงควรตรวจสอบข้อมูลล่วงหน้าเพื่อความแน่ใจก่อนเดินทางไปนมัสการ

  • 2. เดินทางไปนมัสการด้วยตนเอง

    เนื่องจาก โกะชุอิน นั้นเป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นๆ ได้เดินทางมานมัสการยังวัดหรือศาลเจ้าแห่งนั้นๆ แล้ว จึงห้ามมิให้มีการซื้อขายกัน นอกจากนี้การเดินทางไปยังวัดหรือศาลเจ้าเพียงเพื่อไปขอประทับตราโกะชุอิน โดยไม่เข้านมัสการด้านใน ก็ถือเป็นการผิดมารยาทอีกด้วย

  • 3. เตรียมสมุด โกะชุอินโจ (Goshuincho) ของตนเองไปล่วงหน้า

    เนื่องจากเป็นการไม่สมควรที่จะขอให้ทางวัดหรือศาลเจ้าประทับตราโกะชุอินลงบนกระดาษหรือสมุดบันทึกทั่วไป จึงควรเตรียมสมุดโกะชุอินโจไปเองล่วงหน้า ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนสไตล์ญี่ปุ่น และมีจำหน่ายตามวัดหรือศาลเจ้าใหญ่ๆ อีกด้วย และด้วยดีไซน์ที่มีให้เลือกหลากหลาย เชื่อว่าทุกคนจะสามารถหาโกะชุอินโจที่ถูกใจได้อย่างแน่นอน

  • 4. รอด้วยความสงบเรียบร้อย

    หลังจากนมัสการเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถแจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ของทางวัดหรือศาลเจ้าได้ ว่าต้องการขอให้ประทับตราโกะชุอิน ซึ่งทางวัดและศาลเจ้าก็จะค่อยๆ ตั้งใจเขียนตัวอักษรให้ทีละตัวอย่างประณีตบรรจง เพราะฉะนั้นเราจึงควรรอเงียบๆ จนกว่าจะเขียนเสร็จ ซึ่งระหว่างรอ ก็ไม่ควรจะดื่มหรือทานอะไร ไม่ควรพูดคุยสัพเพเหระ และไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือ เนื่องจากจะเป็นการเสียมารยาท เช่นเดียวกันกับเวลาที่เราเข้านมัสการและสวดอธิษฐานขอพร

  • 5. กล่าวแสดงความขอบคุณ

    หลังจากได้รับตราประทับเรียบร้อยแล้ว ควรกล่าวแสดงความขอบคุณ หรืออาจบริจาคเงินเป็นการทำบุญก็ได้ ซึ่งไม่มีการกำหนดตายตัวว่าต้องเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ แต่โดยทั่วไปมักอยู่ที่ประมาณ 300-500 เยน

นอกจากนี้ ช่วงนี้ยังมีการจัด “Narita Transit Program” ซึ่งเป็นโปรแกรมทัวร์ชนิดพิเศษ ที่จัดขึ้นสำหรับผู้ที่เดินทางมายังสนามบินนาริตะเพื่อทรานสิทเท่านั้น โดยจะพาทัวร์เพื่อเก็บ “โกะชุอิน (Goshuin)” ตามวัดและศาลเจ้าต่างๆ โดยไม่เสียค่าบริการแต่อย่างใด ซึ่งนอกจากจะได้สัมผัสกับประสบการณ์การขอตราประทับ “โกะชุอิน (Goshuin)” ตามวัดและศาลเจ้าต่างๆ แล้ว ยังจะได้รับของที่ระลึกเป็นสมุด “โกะชุอินโจ” ซึ่งดีไซน์หน้าปกเป็นรูปนักแสดงคาบุกิ พร้อมด้วยแผ่นพับอธิบายความหมายของโกะชุอิน (Goshuin) (ภาษาอังกฤษ) ฟรีอีกด้วย (จนกว่าของจะหมด)

“Narita Transit Program”

เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) :
http://www.narita-transit-program.jp/index.html

ผู้ที่พอจะมีเวลาระหว่างทรานสิท และสนใจจะเข้าร่วมโปรแกรม สามารถติดต่อขอสมัครได้ที่ “Narita Transit Program Counter”บริเวณล็อบบี้ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 1 อาคารเทอร์มินอล 1 และเทอร์มินอล 2 สนามบินนาริตะ

“Narita Transit Program Counter”

เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) http://www.narita-transit-program.jp/guide.html

 

ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2016

จดหมายข่าวอื่นๆ