ฤดูพิชิตภูเขาฟูจิเวียนมาถึงอีกครั้งแล้ว!

fuji-01

© JNTO

fuji-02

© JNTO

วันที่ 1 กรกฎาคมซึ่งเป็นวันที่เริ่มเปิดให้ขึ้นไปถึงยอดภูเขาฟูจิได้ใกล้จะมาถึงเต็มทีแล้ว
ดังนั้นในครั้งนี้จะขอแนะนำสิ่งที่จำเป็นและข้อควรระวังในการปีนเขา
สำหรับนักปีนเขาผู้ที่ต้องการพิชิตยอดเขาฟูจิในปีนี้กัน

ฤดูที่เหมาะสมที่สุดในการปีนเขา

© JNTO

ฤดูแห่งการปีนภูเขาฟูจิ
เริ่มนับจากวันเปิดเขาไปเป็นระยะเวลาสองเดือน

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม (ประมาณวันที่ 20 กรกฎาคม) ไปจนถึงต้นเดือนกันยายน เนื่องจากครึ่งแรกของเดือนกรฎาคมเป็นช่วงกลางฤดูฝนสภาพอากาศจึงไม่เหมาะสมในการปีนเขา และฝนที่ตกลงมาก็จะทำให้ปีนเขาลำบาก และมักจะเป็นอุปสรรคต่อการชมวิวสวยๆ จากบนเขา จึงแนะนำว่าหากจะไปปีนภูเขาฟูจิควรจะไปหลังสิ้นสุดฤดูฝนในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจะเหมาะกว่า

เส้นทางปีนเขาและการเดินทางไปยังภูเขาฟูจิ

fuji-04

© PhotoAC

© PhotoAC

เส้นทางปีนภูเขาฟูจิมีอยู่ 4 เส้นทางด้วยกัน โดย 3 เส้นทางจะเริ่มจากฝั่งจังหวัดชิซุโอกะ (Shizuoka) ได้แก่

  1. เส้นทางฟูจิโนะมิยะ (Fujinomiya Trail)
  2. เส้นทางโกเท็นบะ (Gotemba Trail)
  3. เส้นทางซุบาชิริ (Subashiri Trail)
  4. เส้นทางโยชิดะ (Yoshida Trail) หรือบางครั้งเรียกว่าเส้นทางคาวากุจิโกะ (Kawaguchi-ko Trail) นั้นเริ่มจากฝั่งจังหวัดยะมะนะชิ (Yamanashi) ซึ่งเส้นทางปีนภูเขาฟูจิที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็คือเส้นทางโยชิดะที่เริ่มจากฝั่งจังหวัดยะมะนะชินี้เอง เนื่องจากเป็นเส้นทางปีนเขาหลักของภูเขาฟูจิ และมีที่พักเปิดให้บริการมากมาย ทำให้แม้นักปีนเขาน้องใหม่ก็สามารถปีนเขาได้อย่างไร้กังวล

 

การเดินทางไปยังภูเขาฟูจิ (Mt.Fuji)

[จากโตเกียว (Tokyo)]
จากสถานี ชินจุกุ (Shinjuku) ขึ้นรถไฟ JR Chuo Line Limited Express ไปยังสถานี โอสึกิ (Otsuki) ใช้เวลาประมาณ 60 นาที แล้วจึงเปลี่ยนมาขึ้นรถไฟ Fuji Kyuko Line เพื่อไปยังสถานี คะวะงุจิโกะ (Kawaguchiko) โดยใช้เวลาประมาณ 60 นาที จากนั้นขึ้นรถ Fuji Kyuko Bus ไปลงที่ป้าย “Fujisan Gogome” ใช้เวลาประมาณ 55 นาที

[จากโอซาก้า (Osaka)]
จากสถานี Shin-Osaka ขึ้นรถไฟ Tokaido  Shinkansen (ขบวนที่ไปสถานี Tokyo) ไปยังสถานี มิชิมะ (Mishima) ใช้เวลาประมาณ 130 นาที แล้วเปลี่ยนมาขึ้นรถ Express Bus สาย Mishima Kawaguchiko Liner จากประตูทางออกทิศใต้ ไปลงที่สถานี คะวะงุจิโกะ (Kawaguchiko) โดยใช้เวลาประมาณ 90 นาที จากนั้นจึงขึ้นรถ Fuji Kyuko  Bus ไปลงที่ป้าย “Fujisan Gogome” ใช้เวลาประมาณ 55 นาที

 

[ กระท่อมและห้องน้ำบนเขา ]
เนื่องจากบนภูเขาฟูจิไม่อนุญาตให้กางเต็นท์นอนได้ จึงจะต้องพักแรมในกระท่อมบนเขาแทน ซึ่งในกระท่อมจะมีอุปกรณ์เครื่องนอนแบบง่ายๆ ให้เช่า และยังสามารถซื้อหาอาหารเครื่องดื่มได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี ควรระวังไม่ส่งเสียงดังเพื่อเป็นการรักษามารยาทภายในห้องนอน นอกจากนี้หากต้องการใช้ห้องน้ำบนภูเขาฟูจิ จะต้องชำระค่าบริการประมาณ 100 – 300 เยน จึงควรเตรียมเหรียญไปให้เรียบร้อย

อ่านรายละเอียดได้ที่ (ภาษาอังกฤษ)
http://www.fujisan-climb.jp/en/hospitality/mountain_huts_and_toilets.html

สามารถตรวจสอบรายละเอียดของเส้นทางปีนเขาและข้อมูลการเดินทางจากที่ต่างๆ ได้จากเว็บไซต์ทางการ

© Freepik

อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการปีนเขา

บนภูเขาฟูจิสภาพอากาศมักจะเปลี่ยนแปลงกะทันหันนอกจากนี้ตามเส้นทางปีนเขายังหนาแน่นไปด้วยผู้คนมากมาย ซึ่งอาจทำให้ลงเขามาล่าช้าได้ ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดจึงควรเตรียมอุปกรณ์ดังต่อไปนี้ไปล่วงหน้า
(*นอกจากอุปกรณ์เหล่านี้ ยังมีสิ่งจำเป็นอื่นๆ อีกมากมายสำหรับการปีนเขา แนะนำให้หาหนังสือเกี่ยวกับการปีนเขามาศึกษาเตรียมไว้ล่วงหน้าด้วย)

รองเท้าปีนเขา เส้นทางปีนเขาฟูจินั้นเต็มไปด้วยก้อนกรวดภูเขาไฟมากมาย หากใส่รองเท้าที่มีพื้นบางอย่างรองเท้าผ้าใบ พื้นรองเท้าอาจสึกเป็นรูได้ จึงควรสวมรองเท้าที่ออกแบบมาให้มีพื้นหนาสำหรับปีนเขาโดยเฉพาะจะดีกว่า
เสื้อกันฝน ควรเป็นเสื้อกันฝนชนิดแยกท่อนบนและล่าง บนภูเขาฟูจิลมพัดแรงมาก หากเป็นเสื้อกันฝนชนิดพลาสติกบางๆอาจฉีกขาดได้ จึงควรเตรียมเสื้อกันฝนแบบที่วัสดุมีความทนทาน
อุปกรณ์กันหนาว ถึงแม้จะเป็นฤดูร้อน แต่บางครั้งอุณหภูมิบนยอดเขาช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นอาจต่ำกว่า 0 องศาได้ และหากมีฝนตกหรือลมพัดแรงก็จะยิ่งรู้สึกหนาวมากขึ้นไปอีก จึงควรนำเสื้อและอุปกรณ์กันหนาวอื่นๆติดไปให้เพียงพอ
ไฟฉายคาดศีรษะ ถึงแม้จะไม่ได้วางแผนมีกิจกรรมอะไรถึงมืดค่ำ แต่ก็ควรนำไฟฉายคาดศีรษะติดตัวไปด้วย เพราะการจราจรบนเส้นทางปีนเขาอาจหนาแน่นติดขัด หรืออาจเกิดไม่สบายเจ็บป่วยระหว่างทาง ซึ่งจะทำให้ลงจากเขามาช้ากว่ากำหนดได้ หลังพระอาทิตย์ตกท้องฟ้าจะมืดลงอย่างรวดเร็ว หากไม่เตรียมไฟฉายไปอาจมองไม่เห็นทางเดิน ทำให้ไม่สามารถลงเขามาได้
แผนที่และเข็มทิศ เส้นทางปีนเขาฟูจิไม่ได้เป็นเส้นทางที่ทอดยาวเป็นเส้นตรงชัดเจน ระหว่างเดินจึงควรต้องคอยเช็คพิกัดของตนกับแผนที่อยู่เสมอเพื่อไม่ให้หลงทาง

ภาวะแพ้ความสูง (Altitude Sickness)

ในการปีนภูเขาฟูจิซึ่งมีความสูงเกินกว่า 3,000 เมตร อาจทำให้เกิดภาวะแพ้ความสูงได้ การแพ้ความสูงคือภาวะอาการที่เกิดจากความหนาแน่นของออกซิเจนในเลือดลดลง และหากอดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือสภาพร่างกายอ่อนแอก็จะยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย จึงควรรักษาร่างกายให้อยู่สภาพแข็งแรงเต็มร้อยก่อนขึ้นพิชิตยอดเขาฟูจิ

 

[ อาการที่ปรากฎ ]
รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย ปวดหัว ตาลาย เบื่ออาหาร อาเจียน เป็นต้น นอกจากนี้ปฏิกริยาโต้ตอบต่างๆ ก็จะช้าลงด้วย เพื่อนๆที่ไปปีนเขาด้วยกันจึงควรคอยกระตุ้นด้วยการส่งเสียงพูดคุยกัน ในบางกรณีอาการอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ จึงไม่ควรประมาทเป็นอันขาด

 

[ วิธีป้องกัน ]
ก่อนเริ่มออกเดิน ควรนั่งพักบริเวณใกล้ๆ สเตชั่นที่ 5 สักประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายปรับตัวให้ชินกับความสูง หากอั้นปัสสาวะ หรือไม่ยอมดื่มน้ำ จะยิ่งทำให้เกิดอาการแพ้ความสูงได้ง่าย จึงควรจิบน้ำอยู่เสมอระหว่างการปีนเขา

 

[ วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภาวะแพ้ความสูง]
วิธีที่ดีที่สุดคือการลดระดับความสูงลงมา ในกรณีที่ระดับอาการรุนแรงควรลงจากเขามาจะดีที่สุด

© Freepik

แสงแรกบนยอดเขาฟูจิ

หนึ่งในสิ่งที่บรรดานักปีนเขาเฝ้ารอคอยก็คือการได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นจากบนยอดเขานั่นเอง ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม จะสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นได้ตั้งแต่ประมาณตีสี่ครึ่ง ส่วนในเดือนสิงหาคมจะชมได้ตั้งแต่เวลาประมาณตีห้าเป็นต้นไป

“โอะฮาจิเมกุริ (Ohachi-meguri)” เส้นทางเดินรอบปากปล่องภูเขาไฟฟูจิ

fuji-08

© Freepik

fuji-09

© Freepik

บนยอดภูเขาฟูจิจะมีปากปล่องภูเขาไฟอยู่ ซึ่งชาวญี่ปุ่นจะเรียกการเดินรอบปากปล่องภูเขาไฟนี้ 1 รอบว่า “โอะฮาจิเมกุริ (Ohachi-meguri Trail)” โดยการเดิน 1 รอบจะใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง บริเวณรอบปากปล่องภูเขาไฟจะมีแท่นหินอนุสาวรีย์และศาลเจ้าอยู่บนยอดเคงกะมิเนะ (Kengamine Peak) ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดเหนือระดับน้ำทะเลในญี่ปุ่น

ขอแนะนำให้นักปีนเขาทั้งหลายได้ลองมา
สัมผัสประสบการณ์อันน่าประทับใจและพิเศษสุดในญี่ปุ่นบนยอดเขาฟูจิแห่งนี้กันดู

จดหมายข่าวอื่นๆ