มาอิ่มอร่อยกับซูชิหลากชนิดกันเถอะ

zushi-01

© JNTO

zushi-02

© JNTO

ซูชิเป็นอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่ในญี่ปุ่นนั้น ซูชิไม่ได้มีแค่เพียงการนำเอาข้าวสวยที่คลุกกับน้ำส้มสายชูมาปั้นเป็นก้อนและวางปลาดิบไว้ด้านบน อย่างที่เรียกกันว่า “นิงิริซูชิ (Nigirizushi) ” เท่านั้น แต่ยังมีซูชิอีกมากมายหลายรูปแบบ อาทิเช่น “โอชิซูชิ (Oshizushi) ” และ “ชิราชิซูชิ (Chirashizushi) ” เป็นต้น ในครั้งนี้เราจึงจะขอแนะนำซูชิชนิดต่างๆ ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นและแต่ละวัฒนธรรมให้ได้รู้จักกัน

© Promotion Airport Environment Improvement Foundation / © JNTO

นิงิริซูชิ (Nigirizushi)

ซูชิชนิดปั้น หรือนิงิริซูชิ (Nigirizushi) นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) ในสมัยเอโดะ (ราว 400 ปีก่อน) จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เอโดะมาเอะซูชิ (Edomae sushi)” นิงิริซูชิที่ญี่ปุ่นนั้นมักป้ายวาซาบิไว้ระหว่างข้าวซูชิ (ข้าวคลุกน้ำส้มสายชู) กับเนื้อปลา สำหรับใครที่ทานวาซาบิไม่ได้จึงต้องระวังตรงจุดนี้ และนิงิริซูชินั้นมีหลากหลายระดับชั้น ตั้งแต่ร้านหรูๆ ที่เสิร์ฟเป็นคอร์ส ราคาคอร์สละตั้งแต่ 10,000 – 30,000 เยน ไปจนถึงร้านซูชิจานหมุนหรือที่เรียกว่า “ไคเต็นซูชิ (Kaiten sushi)” ที่ให้เราได้อิ่มอร่อยกับซูชิราคาจานละ 100 เยนเลยทีเดียว

© JNTO

ชิราชิซูชิ (Chirashizushi)

ชิราชิซูชิ (Chirashizushi) เป็นซูชิชนิดที่นำปลา ผักต้มรสออกหวาน และไข่หั่นเป็นเส้นๆ ที่เรียกว่าคินชิทามาโกะ (Kinshi tamago) มาวางโรยลงบนข้าวซูชิ (ข้าวคลุกน้ำส้มสายชู) หน้าตาดูสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ นิยมรับประทานกันในโอกาสเฉลิมฉลองต่างๆ เช่นในช่วงเทศกาลตุ๊กตาฮินะ (Hina Matsuri) เป็นต้น ในกรณีรับประทานร่วมกันหลายๆ คน จะนิยมจัดวางมาในถาดกลมขนาดใหญ่ที่เรียกว่าโอเกะ (Oke) และตักแบ่งกันรับประทาน

© JNTO

เทมากิซูชิ (Temaki sushi)

เทมากิซูชิ (Temaki suhi) ซึ่งมีความหมายว่าซูชิม้วนมือ (Hand roll sushi) คือการนำเอาแผ่นสาหร่าย ข้าวคลุกน้ำส้มสายชู และเครื่องชนิดอื่นๆ เช่น เนื้อปลา หรือผักสด เป็นต้น มาม้วนเข้าด้วยกันแล้วจึงรับประทาน และเนื่องจากสามารถเลือกเฉพาะเครื่องซูชิที่ตนชอบมาม้วนได้เอง ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมทำซูชิชนิดนี้รับประทานกันเมื่อมีการจัดงานปาร์ตี้ที่บ้าน ขอแนะนำให้ลองม้วนและกัดเข้าปากคำโตๆ ดู รับรองว่าจะต้องติดใจกันอย่างแน่นอน

โอชิซูชิ (Oshizushi)

zushi-06

© JNTO

zushi-07

© Kagawa Prefecture / © JNTO

ซูชิชนิดกด หรือที่เรียกว่า “โอชิซูชิ (Oshizushi) ” คือซูชิที่นำเอาข้าวคลุกน้ำส้มสายชูและเนื้อปลามาใส่ลงในกล่องไม้ จากนั้นจึงใช้น้ำหนักกดทับลงให้แน่นจากด้านบน เนื้อปลาที่นิยมนำมาทำซูชิชนิดนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ซูชิชนิดกดของโอซาก้าที่เรียกว่า “บัตเตระ (Battera) ” จะใช้ปลาซาบะ (Mackerel) ส่วน “มาซุซูชิ (Masuzushi) ” ของโทยามะจะใช้ปลามาซุ (Trout) เป็นต้น และนอกจากนี้ก็ยังมี “อาจิโนะโอชิซูชิ (Aji no oshizushi) ” ที่ทำจากปลาอาจิ (Horse mackerel) อีกด้วย โดยมากแล้วซูชิชนิดกดนี้นิยมนำมาทำเป็นอาหารกล่องขายตามสถานีรถไฟ หรือที่เรียกกันว่า “เอกิเบ็น (Ekiben) ” แนะนำให้ลองหาซื้อมาทานบนรถไฟกันดู

© flickr

ชาคิงซูชิ (Chakinzushi)

ชาคิงซูชิ (Chakinzushi) คือซูชิที่ใช้แผ่นไข่ทอดบางๆ มาห่อข้าวซูชิซึ่งคลุกเคล้าเครื่องต่างๆ ไว้แล้ว รูปร่างหน้าตาที่ดูคล้ายถุงสีเหลืองใบเล็กๆ นี้แลดูน่ารักมาก ซูชิชนิดนี้แม้จะถือกำเนิดขึ้นที่โตเกียว แต่ก็เป็นซูชิที่นิยมรับประทานกันมากในแถบคันไซ

© flickr

อินาริซูชิ (Inarizushi)

อินาริซูชิ (Inarizushi) คือซูชิชนิดที่นำเอาข้าวคลุกน้ำส้มสายชูมาใส่ลงในเต้าหู้ทอดอาบุระอาเกะ (Abura-age) โดยเต้าหู้ทอดที่ใช้จะนำมาต้มให้ออกรสหวานเสียก่อน ส่วนที่ได้ชื่ออินารินั้น เพราะเป็นอาหารโปรดของสุนัขจิ้งจอกที่ทำหน้าที่รับใช้เทพเจ้าอยู่ในศาลเจ้าอินาริ (Inari Shrine) นั่นเอง ซูชิชนิดนี้มีรสหวานชุ่มฉ่ำ จึงเป็นที่นิยมของผู้คนทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุเลยทีเดียว

© PhotoAC

คาคิโนะฮะซูชิ (Kakinohazushi)

คาคิโนะฮะซูชิ (Kakinohazushi) หมายถึงซูชิห่อใบพลับ ทำโดยนำเอาใบของต้นพลับมาห่อเข้ากับเนื้อปลาหมักเกลือและข้าวซูชิเป็นทรงสี่เหลี่ยม ให้กลิ่นหอมอ่อนๆ จากใบพลับ ซูชิชนิดนี้ถือกำเนิดจากความต้องการถนอมอาหารในดินแดนที่ไม่สามารถจับปลาได้เพราะไม่มีชายฝั่งทะเล ด้วยเหตุนี้เองจึงกลายเป็นอาหารประจำท้องถิ่นของจังหวัดนารา (Nara) จังหวัดวากายะมะ (Wakayama)  และจังหวัดอิชิคะวะ (ishikawa) ซึ่งความสนุกอย่างหนึ่งในการรับประทานซูชิชนิดนี้ก็คือการได้ลุ้นว่าเมื่อเปิดใบพลับที่ห่อไว้ออกมาจะได้พบกับปลาชนิดไหนนั่นเอง

จดหมายข่าวอื่นๆ