อาหารท้องถิ่นของคันโต (Kanto)

อุทสึโนะมิยะเกี๊ยวซ่า (Utsunomiya Gyoza), โทชิงิ (Tochigi)

เกี๊ยวซ่า (Gyoza) ในประเทศจีนและประเทศเชื้อสายจีนอื่นๆนั้น โดยทั่วไปจะเป็นเกี๊ยวซ่าต้มเสียส่วนมาก แต่ในญี่ปุ่นนิยมรับประทานเกี๊ยวซ่าแบบย่างมากกว่า เมืองอุทสึโนะมิยะ (Utsunomiya City) จังหวัดโทชิงิ (Tochigi) เป็นเมืองที่มีเกี๊ยวซ่าย่างสูตรอร่อยขึ้นชื่อ เรียกว่า “อุทสึโนะมิยะเกี๊ยวซ่า(Utsunomiya Gyoza)” หรือเกี๊ยวซ่าสไตล์อุทสึโนะมิยะนั่นเอง ถือเป็นเมนูเด่นประจำท้องถิ่น ซึ่งมีร้านที่ขายเกี๊ยวซ่าโดยเฉพาะอยู่มากกว่า 200 แห่งทั่วเมือง ลักษณะเด่นของเกี๊ยวซ่าสไตล์อุทสึโนะมิยะคือตัวไส้จะมีส่วนผสมของผักในท้องถิ่นอย่างผักกาดขาว กุยช่าย และกะหล่ำปลี

ข้าวอบหม้อดิน โทเงะโนะคะมะเมะชิ (Toge no Kamameshi), กุมมะ (Gunma)

โทเงะโนะคะมะเมะชิ (Toge no Kamameshi) คือเมนูข้าวกล่องชนิดหนึ่งสำหรับทานบนรถไฟ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “เอะคิเบ็น (Ekiben)” นั่นเอง โดยเมนูโทเงะโนะคะมะเมะชิ (Toge no Kamameshi) นี้มีวางขายอยู่ตามสถานีรถไฟหรือจุดจำหน่ายสินค้าแบบไดรฟ์อินบริเวณรอบๆเมืองอันนะกะ (Annaka City) จังหวัดกุมมะ (Gunma) เป็นข้าวอบหม้อดินซึ่งมีลักษณะเด่นตรงบรรจุอยู่ในหม้อดินเผาที่สามารถนำกลับไปใช้ต่อได้เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว รสชาติละมุน ด้านบนโปะด้วยไข่นกกระทา เกาลัด รากไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่าโกะโบ (Gobo) เห็ดหอม หน่อไม้ และเนื้อไก่ เป็นต้น และหากโชคดีอาจได้กล่องที่เพิ่งทำเสร็จร้อนๆ ด้วย

เส้นโฮโต (Hoto Noodles), ยะมะนะชิ (Yamanashi)

เส้นโฮโต (Hoto Noodles) คืออาหารพื้นบ้านของจังหวัดยะมะนะชิ (Yamanashi) มีลักษณะเด่นชัดเจนตรงที่เป็นเส้นแบนกว้างและรสสัมผัสเหนียวนุ่มคล้ายอุด้ง (Udon) แต่ไม่สู้ฟันเท่า เมื่อต้มไปนานๆเส้นจะเปื่อยเหนียวนิ่มลง เวลาทานจะนำเส้นนี้มาต้มในหม้อไฟรวมกับวัตถุดิบอื่นๆ ทั้งเห็ดและผักชนิดต่างๆ ปรุงรสด้วยมิโซะ วัตถุดิบที่สำคัญเป็นพิเศษในการทำหม้อไฟโฮโตก็คือฟักทอง และเมื่อมีมิโซะ ผักต่างๆ และตัวเส้น ต้มรวมในซุปจนเข้ากันได้ที่ จะทำให้น้ำซุปหม้อไฟโฮโตมีรสหวานอันเป็นเอกลักษณ์ นับเป็นเมนูที่อยากแนะนำให้ลองหาชิมดูโดยเฉพาะในฤดูที่อากาศหนาวเย็น

ข้าวหน้าปลาชิระซุ (Shirasu-don), คะนะงะวะ (Kanagawa)

ข้าวหน้าปลาชิระซุ (Shirasu-don) เป็นเมนูที่นำปลาชิระซุ (Shirasu) ลูกของปลาอิวาชิ (Iwashi) ตัวเล็กๆ และปลาชนิดอื่นๆ จำนวนมากมาโปะลงบนข้าวสวย แล้วเสริมด้วยเครื่องเคียงอื่นๆ เช่น ไข่แดง ต้นหอม ใบชิโสะ (Shiso) และสาหร่ายอบแห้งหั่นฝอย แล้วราดด้วยน้ำจิ้มหรือโชยุ  ส่วนใหญ่แล้วข้าวหน้าปลาชิระซุมักจะใช้ปลาชิระซุต้มเกลือ หรือที่เรียกว่า “คะมะอาเงะชิระซุ (Kamaage Shirasu)” หรือปลาชิระซุแห้งที่เรียกว่า “ชิริเม็งจะโกะ (Chirimenjako)” เป็นหลัก แต่ในแถบคามาคุระและเอโนะชิมะซึ่งอยู่ติดทะเลนั้น บางครั้งจะใช้เป็นปลาชิระซุดิบๆแทน เรียกเมนูข้าวหน้าปลาชิระซุดิบนี้ว่า “นะมะชิระซุด้ง (Namashirasu-don)” ให้รสสัมผัสลื่นลิ้นและได้กลิ่นหอมจากทะเลไปพร้อมๆ กัน